วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์งานอย่างไรให้ได้คน

คำถามง่าย ๆ สำหรับหลายคนที่ผู้เขียนได้รับคำถามมาคือ สัมภาษณ์งานอย่างไรถึงจะดี ถึงจะได้คนที่มีคุณสมบัติครบ และอยู่กับองค์กรได้นาน?

ถามกันง่าย ๆ แต่ตอบยากมาก เพราะวันที่สัมภาษณ์งานเป็นวันที่คนโกหกมากที่สุดทั้งคนสัมภาษณ์และคนถูกสัมภาษณ์ ต่างก็ต้องพูดออกมาให้ดูทีกันทั้งคู่ และใช้ถ้อยคำหลอกล่อ หว่านล้อม อ้อนวอน สารพัดเพื่อให้ได้งาน และได้คน

แล้วทำไมถึงได้คนไม่ตรง ทำไมพนักงานที่เข้าใหม่ถึงเข้า ๆ ออก ๆ กันเป็นว่าเล่น?

ต้องแยกประเด็นก่อนว่าการสัมภาษณ์งานเป็นพื้นฐานขั้นแรก และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในองค์ประกอบการคัดสรร การเลือกจ้างเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่ทำให้พนักงานอยู่หรือไม่

เพราะบางครั้งคนที่ใช่สำหรับองค์กรก็อยู่ได้ไม่นานเพราะเขาค้นพบว่าองค์กรไม่ใช่สำหรับเขา... การเลือกคนที่จะมาเป็นพนักงานนั้นเหมือนการเลือกคู่ครอง จะยืนยง หรือย่ำแย่ ก็อยู่ที่พฤติกรรม และจิตใจของทั้งสองฝ่าย

ลองคิดง่าย ๆ หากฝ่ายชายและหญิง (องค์กรและพนักงาน) ต่างมีใจให้กันและกันมันย่อมทำให้มีความเสียสละ อดทน ต่อปัญหา รักกันใหม่ ๆ มีพริกกินพริก มีเกลือกินเกลือ แต่ถ้าอยู่ไปหลายปีแล้วยังกินเกลือกับพริกอยู่ร่ำไป คงไม่มีสาว ๆ คนไหนอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง คงต้องมองหาชายใหม่ในดวงใจ (องค์กรใหม่) มาเป็นคู่ครองอยู่เรื่อย ๆ

น้อยคนนักที่จะเลือกยอมอดมื้อกินมื้ออยู่กับสามีที่ไม่มีอนาคต ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร และที่แย่ที่สุดสามีที่ใจจืดใจดำ ไม่เห็นแก่ภรรยา เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาแต่ใจตัวเอง ตัวเองดีหมด ภรรยาอะไรก็ผิด คนที่ทนอยู่ได้มีสองอย่าง ยอมรับว่าเป็นเวรกรรมขี้เกียจไปตายดาบหน้า ยอมอดทนมองว่าเป็นรักแท้ หรืออีกคนหนึ่งคือขี้ริ้วขี้เหร่เลิกไปแล้วไม่มีชายใดจะหมายตา...

นี่เป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือการเลือกคู่ร่วมหอลงโลง ซึ่งไม่ต่างจากองค์กรเลือกพนักงานเข้ามา และพนักงานก็เลือกองค์กรเช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้คนอยู่กับองค์กรนั้นไม่ใช่ความรักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นเรื่องความมั่นคงทางหน้าที่การงานด้วย และองค์กรต้องทำให้เขารู้สึกว่าเป็นมิตรไมตรีมี เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา (ปัญญานุเบกขาคือความวางเฉยด้วยปัญญาไม่ใช่ อัญญานุเบกขาที่วางเฉยแบบทองไม่รู้ร้อน พระท่านว่าเฉยโง่)

ดังนั้นการสัมภาษณ์งานเป็นด่านแรกที่เปิดโอกาสในการเลือกหญิงสาวสวยงามเข้ามาเป็นคู่ครอง ถ้าชายหนุ่มหน้าตาดีก็จะมีสาว ๆ มาสมัครให้เลือกเป็นคู่มากหน่อย แต่ขี้ริ้วขี้เร่ ไม่มีชื่อเสียงแต่มีเงินมีทองมากอยู่แล้วคงสุขสบายก็พอทำใจได้มองในความมั่นคงยอมมาสมัครเป็นแฟนกันก็ได้

แต่รูปไม่งาม นามไม่เพราะแถมยากจน ไม่มีน้ำใจ มีชื่อเสียงเกะกะเกเร น้อยคนนักที่จะผ่านมาให้เลือกคู่หรือที่มาก็ไม่มีทางไปนั่นแหละ...

นอกเรื่องดูเหมือนไม่เป็นเรื่องแต่เกี่ยวเนื่องกันเยอะ... ทีนี้วกกลับมาเรื่องการสัมภาษณ์งานนั้นเล่าทำอย่างไรได้บ้าง?

คงบอกกันสอนกันไม่ได้ว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะสำเร็จ หนังสือที่วางขายวิธีการสัมภาษณ์งานก็พื้น ๆ และหากสัมภาษณ์ตามหนังสือที่แนะนำกันนั้นก็ได้คนโกหกมาทำงานเสียเยอะแยะ เพราะต่างคนก็อ่านมาเหมือนกัน บางมหาวิทยาลัยถึงขั้นมีหลักสูตรอบรมเตรียมความพร้อม มีการชี้แนะแนวทางในการสัมภาณณ์งาน เชิญวิทยากรที่เป็นเจ้าหน้าที่มีประการสัมภาษณ์งานเป็นอาชีพมาบอกเลยว่าจะถามอะไรบ้าง และควรตอบอย่างไร หนังสือที่วางขายตามร้านหนังสือก็มากมายที่แนะนำวิธีการตอบสัมภาษณ์เรียกได้ว่าถามอย่างไรตอบได้หมด

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเน้นเรื่องวิธีคิดเป็นหลัก แล้วค่อย ๆ คุยสอบถามกันไปแล้วเก็บพฤติกรรมเด่น ๆ และความรู้สึกของผู้เข้าสัมภาษณ์เพื่อนำมาเทียบกับ Competency ที่กำหนดไว้แล้ว เน้นเรื่องพฤติกรรม วิธีคิด วิธีแก้ไขปัญหา เน้นความเข้าใจสัจธรรม ดูว่าเข้าใจสังคมมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือไม่ ถ้างานบริการก็ดูว่าเขามีพฤติกรรมเหวี่ยง วีน หรือเข้าตัวเองแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับงานและความต้องของงาน ขอบเขตงานและสมรรถนะที่ต้องการ ดังนั้นต้องกำหนด Job Description อันเป็นขอบเขตการทำงานให้เรียบร้อย แล้วแปลงให้เป็น Competency เพื่อคัดเลือก สรรหา พัฒนาพนักงานให้ตรงตาม Competency แล้วค่อยใช้ KPI มาตรวจวัดตรวจจับกันภายหลัง เพราะการตรวจวัด ตรวจจับหากใช้ไม่เป็นจะบั่นทอนศักยภาพพนักงานเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายที่ไม่ควรลืมในการสัมภาษณ์หลังจากสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมแล้วก็สัมภาษณ์เชิงสถานการณ์คือ สมมติเพื่อให้ผู้เข้าสัมภาษณ์ คิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา โดยเป็นคำถามปลายเปิด ไม่มีถูกไม่มีผิด คำตอบสามารถตอบหลากหลาย แต่คำตอบจะบ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์

เห็นไหมครับว่า สัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมและเชิงสถานการณ์มันเกี่ยวเนื่องกัน สนับสนุนกันอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะต้องถามหนึ่งสองสามไปเรื่อย ๆ ...

ฝึก อ่าน คิดและวิเคราะห์คุยกับคนให้มาก ฝึกสังเกตพฤติกรรมคน ฝึกสังเกตวิธีคิด วิธีการต่าง ๆ ฝึกสังเกตว่าอะไรเป็นเหตุไม่ใช่แก้ไขที่ผลอย่างเดียว

การสัมภาษณ์งานจึงเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ใช้ทักษะ ความสามารถเป็นอย่างยิ่ง หาใช้สักแต่ว่าสัมภาษณ์ ๆ ๆ ให้ผ่าน ๆ แล้วดูที่หน้าตา ดูที่การพูด ดูที่คำตอบอย่างเดียว ต้องมองให้ลึกถึงข้างในด้วย

บางแห่งผู้สัมภาษณ์ติดกับดัก บ่วงประสบการณ์ คือมีประสบการณ์บริษัทที่คิดว่าดีกว่า แล้วจะอ้าแขนรับเลย ซึ่งละเลยความเป็นจริงว่า ที่เขามาจากองค์กรที่ดีกว่านั้นเพราะอะไร ทำไมถึงทิ้งสิ่งที่มาหาสิ่งที่แย่กว่า... มีอะไรหลากหลายที่ให้คิดมากกว่าประสบการณ์ เพราะการเรียนรู้ คนเก่งสอนได้ แต่คนดีสอนยากครับ มันต้องดีด้วยตัวเอง เพราะถ้าไม่คิดดีทำดีซะอย่างต่อให้พบพระพุทธองค์ก็ไม่บรรลุ (ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างให้มากมาย อยู่ต่อหน้าพระพักตร์แล้วยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้)

จึงฝากไว้ว่าการสัมภาษณ์งานเป็นสิ่งต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่องค์กรหรือหน่วยงาน หัวหน้างานควรให้ความสำคัญไม่อย่างนั้นจะเจอปัญหา คนอื่นคัดออกเราคัดเข้า... และฝากเตือนไว้อีกว่า การเอาคนเข้างานง่าย แต่ให้ออกจากงานนั้นยาก ดังนั้นหากรับมาแล้วมีนิสัยแย่ ๆ สร้างปัญหาให้องค์กรแล้วเอาออกไม่ได้เพราะชั่วไม่มีดีไม่ปรากฏ ไม่เคยทำผิดกฏระเบียบวินัยเลย สั่งให้ทำอะไรก็ทำหมดแล้วจะหาความผิดอะไรให้เขาออก... ดังนั้นเลือกคนที่ใช่ คนที่ดีเข้าองค์กรก่อน แล้วค่อยพัฒนาสั่งสมอบรมให้ประสบการณ์ต่อไป... คราวหน้าจะเขียนเรื่องการพัฒนาต่อไปครับ... สวัสดีครับ