วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รู้จัก Baby Boomer + Generation X + Generation Y

ในปัจจุบันนี้ใครที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปจะถือว่าอยู่ในยุค Baby Boomer ถึงแม้ว่าจะปลาย ๆ ไปแล้วแต่ก็ยังถือว่าเป็นบุคลากรในยุคนั้น ถัดลงมาก็เป็น Generation X และเด็กวัยทำงานที่กำลังร้อนแรงในปัจจุบันนี้ก็เป็น Generation Y หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า Gen X, Gen Y กัน

ทีนี้มาดูแต่ละรุ่นว่าเป็นอย่างไรบ้าง เอาสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็แล้วกัน

Baby Boomer
เป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในยุครุ่นแรก ๆ หลังจากปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคม ถ้าเทียบเคียงให้ง่ายคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงยุคทศวรรษที่ 60 คนกลุ่มนี้ปัจจุบันหลาย ๆ คนก็อยู่ในยุคผู้บริหารระดับสูง หรือพนักงานอาวุโสใกล้เกษียณ ซึ่งก็มีแนวคิดการทำงานที่เด่นชัดในด้านความจงรักภักดีต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เน้นความประหยัด การทำงานเน้นประสบการณ์เก่า ๆ ปัจจุบันยังเห็นอยู่มาก และข้อเสียในกลุ่มนี้คือ ยึดติดกับความสำเร็จเร็จเก่า ๆ (กับดักแห่งความสำเร็จ)

Generation X
เป็นกลุ่มคนหลังยุค 60 ถึง ยุคปี 2000 เฟื่องฟูมากในยุค 80-90 รุ่นนี้จะได้รับอิทธิพลในด้านการดำเนินชีวิตและการทำงานจากรุ่น Baby Boomer คือมีการวางแผนรัดกุม ภักดีต่อองค์กร แต่ก็ได้รับอิทธิพลสมัยใหม่ที่สนใจในเรื่องความก้าวหน้า ชื่อเสียงมากกว่าเงินทอง การทำงานจะเป็นคนที่หนักเอาเบาสู้แต่ไม่มากเท่า Baby Boomer เริ่มสนใจเทคโนโลยีตามยุคสมัย เน้นที่ตัวตนมากขึ้น

Generation Y
เป็นเด็กที่เกิดยุคหลังทศวรรษที่คาบเกี่ยวมาตั้งแต่ 90 ถึงปี 2000 พวกนี้คือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่หลายคนในยุคก่อนหน้าเรียกว่า พวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ แต่อยากได้ผลตอบแทนที่สูง อยากได้ความก้าวหน้าทางอาชีพ อยากได้รับการยอมรับเหนือคนอื่น เด็กรุ่นนี้มีข้อดีคือ เก่งทางด้านเทคโนโลยี ติดสังคมและความโก้หรู

คนในแต่ละยุคสมัยไม่สามารถบอกได้ว่ายุคสมัยไหนจะดีกว่า เพราะกาลเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ย่อมส่งผลให้วิถีคิด วิธีการกระทำเปลี่ยนไปด้วย การพัฒนาบุคลากรจำต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

หากเราสามารถนำเอาจุดเด่นของคนแต่ละยุคมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วจะมีคุณค่าต่อองค์กรเป็นอย่างมาก แต่ลองคิดกลับกันหากองค์กรไหนมีคนครบทั้ง 3 ยุคแต่แต่ละคนมีแต่ข้อเสียในยุคนั้นมากกว่าข้อดีละก็ถือว่าเป็นคราวซวยขององค์กรนั้นไป...

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management)

ภาวะวิกฤต คือ สภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นปกติทั่วไป และสถานการณ์วิกฤตนี่แหละจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า องค์กร หน่วยงาน ไหนจะมีความพร้อมในการรับมือ และจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร โดยไม่เกิดความวุ่นวาย เสียหายต่อหน่วยงาน

ปัจจุบันหากมองตามหนังสือก็จะพบตำราเกี่ยวกับ การจัดการความเสี่ยง การตัดสินใจภายใต้ภาวะวิกฤต หลากหลาย แต่ถ้าถามว่าหนังสือเหล่านี้ช่วยได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มร้อย แต่จะสามารถนำมาเป็นแนวทางเพื่อการปฎิบัติเท่านั้น

การจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตนั้นมีหลักการคร่าว ๆ คือ
  1. Awareness - ทราบความเสี่ยง
  2. Risk Assessment - ประเมินความเสียหาย
  3. Planing - วางแผนรับมือ
  4. Organization - จัดทีมรับมือ
  5. Monitoring - เฝ้าระวัง
  6. Implement of Plan - ซักซ้อมสถานการณ์
  7. Command & Control - มีระบบบัญชาการ ควบคุม ประสานงาน
การจัดการในสภาวะวิกฤตนั้นต้องมีเครื่องในการจัดการซึ่งมีหลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ระบบการบัญชาการ ต้องมีการสื่อสารอย่างดี มีแบบแผนอย่างชัดเจน เพราะการสั่งการแต่ละครั้งนั่นหมายถึงความเป็นความตายของหน่วยงาน หากสั่งผิดพลาดก็เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีหรือไม่ก็เสียทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา

สิ่งสำคัญประการที่สองคือ การตัดสินใจในภาวะวิกฤต การตัดสินใจในรูปแบบนี้จะไม่เหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะไม่มีโอกาสที่จะแก้ไข วางแผน ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันเชิงรุก จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น เพราะมีการคิด การวางแผนถึงสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น การวางแผนเพื่อเผชิญเหตุ จึงเป็นเครื่องมือชุดที่สาม ที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีไว้เพื่อป้องกันวิกฤต

คราวนี้ลองหันกลับมาดูหน่วยงานของคุณบ้างว่า... มีอะไรที่กล่าวมาแล้วบ้าง?

ที่น่าตกใจสำหรับหน่วยงานหลายแห่งที่ผู้เขียนเคยได้สนทนาด้วย มักจะบอกว่า...
  • อย่าวิตกเกินเหตุ
  • เหตุการณ์ไม่เลวร้ายอย่างนั้นหรอก
  • นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที และคงไม่เกิดหรอก
  • ถ้าเกิดขึ้นก็ว่ากันตามสถานการณ์
  • อย่างมากก็ปิดทำการ ไม่มีอะไรมากหรอก
  • ค่าเสียหายตอนนั้นคงไม่มากหรอก สู้เก็บเงินไว้รอให้ปัญหาเกิดก่อนค่อยว่ากัน
  • ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือ ความประมาท ทั้งสิ้น เพราะภาวะวิกฤตมันมีอะไรมากกว่าค่าเสียหายจากสถานการณ์ เพราะยังมีอื่น ๆ แอบแฝง เช่น
  • รายได้ที่หายไป
  • ความน่าเชื่อถือ
  • ความเป็นมืออาชีพ
  • โอกาสในการทำรายได้
  • เสียคุณค่าของแบรนด์
  • ความวุ่นวายในหน่วยงาน
  • การทะเลาะเบาะแว้งของพนักงาน
  • ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่หลายหน่วยงานควรตระหนักคือ อะไรคือวิกฤต จะเสียหายมากน้อยแค่ไหนหากเกิดวิกฤต เราพร้อมรองรับหรือยัง มีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ และใครบ้างจะเป็นผู้สั่งการ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารอย่างถูกต้อง แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่คิดไป สั่งไป แล้วค่อยแก้ไข เพราะการสั่ง การประกาศแต่ละครั้งยากที่จะกลับคืนคำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุค กระแสสังคมออนไลน์ ที่เฟื่องฟูอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ กว่าจะทำให้กลับคืนได้ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก...

เตรียมไว้เถอะครับ อย่าให้วิกฤตมาทำลายโอกาส จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสดีกว่า... อย่างน้อยก็มีความเป็นมืออาชีพในการบริหาร ไม่ใช่การบริหารตามสถานการณ์ไปวัน...

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ระเบิดเวลาของการตลาดบนเฟสบุ๊ก...

ยุคนี้หากหน่วยงานไหน องค์กรไหนไม่มีหน้าแฟนเพจถือว่าล้าหลังไม่ทันสมัย หรือก็เชยระเบิด เลยทีเดียว เหมือนกับกระแสยุคปี 2000 ทุกบริษัทมีความมุ่งหวังจะสร้างภาพลักษณ์ผ่านหน้าเว็บไซต์ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มีไม่กี่รายที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะอะไรนะหรือ...

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าไม่ใช่กูรูทางการตลาด และกูรูทาง Social Network แต่เป็นผู้บริโภคธรรมดา ๆ ที่คิดถึงการบริการที่เหมาะสมตามเหตุตามผล แล้วนำมาแสดงความคิดเห็นเพียงเท่านั้น... ถูกผิดอย่างไรก็คุยกันได้เต็มที่ครับ

มีคนกล่าวว่า "ข่าวสารบนสังคมออนไลน์เป็นแบบไฟลามทุ่ง" เกิดขึ้นวูบเดียวสักพักก็หาย นับว่าเป็นความจริงหากสังเกตเรื่องน้ำท่วม ตอนนี้บนสังคมถือว่า out หรือ fade out ไปแล้ว แต่กลับเป็นเรื่องน้ำลดตอผุด ขุดมาด่ากันเละ ก็ว่ากันไปตามกระแส

แต่สำหรับบริการแล้วหากคิดว่ากระแสบนอินเตอร์เน็ตไม่สำคัญนั้นคิดผิดอย่างยิ่ง เพราะการบริการ ยังมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่คิด

การแสดงออกที่ไม่พอใจต่อบริการถือว่าเป็นการแจ้งข้อมูลให้ผู้บริการทราบโดยไม่ต้องทำการวิจัย หรือที่เรียกว่า Free Information เป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการจะได้ปรับปรุงคุณภาพ

แต่บน Facebook หลายรายมักจะละเลยถึงข้อร้องเรียน ความไม่พึงพอใจเหล่านี้ ด้วยความคิดและเหตุผลที่ว่าเดี๋ยวก็มีข้อความอื่นมากลบข้อความที่หน้าแฟนเพจ และพยายามสร้างข้อความอื่น ๆ ให้ดันข้อความที่ไม่ต้องการเหล่านั้นไปอยู่ท้าย ๆ และคิดว่าไม่มีใครไปเปิดดูโพสต์เก่า ๆ

ถูกต้องครับ คนที่มาใหม่ไม่มีใครไล่เปิดดูข้อความเก่า ๆ แน่นอน แต่สำหรับเจ้าของโพสต์แล้วไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ

ในเมื่อข้อความของตนเองถูกละเลย เจ้าของโพสต์จะเริ่มไม่พอใจมากขึ้นบางรายก็พยายามที่จะแสดงออกต่อไปในหลาย ๆ ที่ และจะเพิ่มความโกรธ ความเกลียด และความรุนแรงของข้อความไปเรื่อย ๆ และที่สุดก็เป็นระเบิดเวลาที่จะป่วนหรือทำให้บริการนั้นมีมลทินไป

ดังนั้นผู้ที่คิดจะนำเอาแฟนเพจมาทำการตลาดแล้วหากไม่เข้าใจหลักการตลาดการบริการ ไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่เข้าเรื่องการจัดการข้อร้องเรียนแล้ว ถือว่าอันตรายเป็นอย่างยิ่ง...


การปกปิดหรือซ่อนเร้นทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ประดุจดั่งมีสิ่งสกปรกเน่าเหม็นอยู่ในบ้าน ถึงแม้ว่าจะปิดหรือเอาอะไรมากลบอย่างไรก็ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น การแก้ไขปัญหาคือการทำความสะอาด เท่านั้นจะทำให้ต้นตอปัญหาหมดไป

คิดให้ดีก่อนที่จะทำการตลาดด้วย Fan Page แทนที่จะได้อาจจะเสียมากกว่า...

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความแตกแยกของสังคม... คงยากที่จะเยียวยา...

ไม่ได้อยู่กับสังคมออนไลน์เสียนาน กลับมาครั้งนี้ก็ยิ่งตกใจหนักเข้าไปอีก เมื่อเห็นสภาพของการสื่อสารในสังคมออนไลน์ เพราะต่างต้องการแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิดของตนเองเสียจนความเป็นอยู่ของสังคมเริ่มวิกฤติ ต่างคนต่างมีวิถีคิด ต่างคนต่างมีจิตวิญญาน และที่เลวร้ายคือ แต่ละคนสามารถแสดงความเห็นอย่างอิสระ และไร้ความรับผิดชอบ...

ตอนนี้ปัญหาใหม่ที่อยู่คู่กับโลกไซเบอร์คือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวโจมตีมุ่งร้าย... สาระพัดที่จะมี

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การส่งสารออกไป เพราะคนส่งมีแนวคิดจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนว่าจะส่งสารเพื่ออะไร แต่ปัญหากลับอยู่ที่ผู้รับสารที่ไม่สามารถแยกแยะ วิเคราะห์ข่าวสารนั้น ๆ ทำให้เกิดความหลงเชื่อในข่าวสาร และที่สำคัญการรับสารและส่งสารสามารถทำได้ในเวลาไล่เลี่ยกันเสียจนผู้รับที่กลายเป็นผู้ส่งไม่สามารถไล่เรียง วิเคราะห์แยกแยะ

เมื่อวงจรการรับและการส่งมันรวดเร็วเสียอย่างนั้น ความความผิดพลาดย่อมตามมา และยากที่จะแก้ไขในเวลาอันรวดเร็ว... การส่งออกง่ายกว่าเร็วกว่า แต่การแก้ไขยากกว่าหลายเท่านัก...

เมื่อการรับสารขาดศักยภาพทำให้เกิดการกระตุ้นความคิดตามจุดมุ่งหมายของผู้สื่อ และทำให้เกิดข้อวิพากย์ ขัดแย้งและลุกลามไปเป็นวงกว้าง เพราะทุกคนต่างมีความคิด มีตัวตน และการสื่อออกมักจะผสมความคิดเห็นตามความรู้สึกของตนอีก

ความขัดแย้งที่รุนแรงในประเทศไทยขณะนี้คือ ความแตกแยกทางการเมือง อันที่จริงแล้วความแตกแยกทางความคิดและการเมืองเป็นเรื่องปกติของหลาย ๆ สังคม หลายชุมชน แต่ที่ผิดปกติของสังคมไทย คือ ความแตกแยกทางการเมืองเชิงทำลาย...

หมายถึงความพยายามที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อไม่ให้ขัดขวางหรืออยู่ร่วมกันได้ มีการตามล้างตามเช็ดกันแบบไม่ให้โอกาส ไม่ว่าฝ่ายไหนก็เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว...

ความพยายามสร้างความปรองดองถึงกลับเป็นแผนหรือวาระแห่งชาติตามที่หลายฝ่ายเสนอ แต่เชื่อหรือไม่ว่ามันก็เป็นเพียงแผนหรือแนวคิดตามความรู้สึกของตนหากคนอื่นไม่เห็นด้วยก็ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ พาลจะไม่ให้ความร่วมมือ หรือดื้อดึงในความคิดตนเอง หรือไม่ก็ปฏิเสธความคิดคนอื่นโดยไม่พิเคราะห์เสียก่อน

ความพยายามเหล่านี้มักไร้ผลหากเราไม่เข้าใจว่าสังคมไทยมีความเป็นมาอย่างไร... ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่แตกต่างกันมากนัก การทำลายล้างทางการเมืองมีแต่ในสมัยโบร่ำโบราณ ก็ยังมีเหมือนเดิม เป็นหนังม้วนเดิมแต่เปลี่ยนเวลาฉายและเปลี่ยนฉากเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตัวแสดงก็เท่านั้น...

ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนความคิดเสียแล้ว ก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้...

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำคลองที่ถน นวิภาดี ซ.13

น้ำดำสนิท เริ่มส่งกลิ่นเหม็น ช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะใช้น้ำเหนือผลักดันน้ำเสียออกไปได้หากวางแผนไว้อย่างรัดกุม เว้นเสียแต่ไม่ทำแล้วอ้างเหตุผลสาระพัด เข้าทำนองมือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ... เบื่อจริงพวกนี้...
Sent from my Nokia phone

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตรียมไว้ก่อน



ช่วงนี้ได้บอกเตือนหลายคนให้ระมัดระวังการเก็บของแต่ก็ได้รับคำตอบมาทำนองว่า มันจะท่วมจริงหรือ... มันคงมาไม่ถึงหรอก ร้อยวันพันปีไม่เคยเห็นน้ำมาหน้าบ้านเลย แต่คราวนี้ต้องบอกตามประสบการณ์ที่เคยเจอ และเป็นคือที่จังหวัดน่านเคยเกิดภาวะแบบนี้คือหลายคนบอกว่าอย่าตื่นตูม น้ำท่วมอยากมากก็ริมฟุตบาท แต่ในที่สุดก็ท่วมทั้งเมือง แล้วก็มาบ่นกันว่าเกิดมาไม่เคยเห็น พึ่งเห็นครั้งแรก และด่าการแจ้งเตือนของภาครัฐอีกว่าไม่มีการแจ้งให้ข้อมูลอย่างชัดเจน...

ถึงวินาทีนี้ต้องเรียนตามตรงว่าหากรู้ว่าอะไรจะเกิดก็บอกกันไปแล้วครับ โดยเฉพาะพวกอยากได้หน้าเพิ่มมีหรือจะเก็บไว้คนเดียว... (ยกเว้นรู้ว่าค่าเงินบาทจะขึ้นหรือลงอันนี้เก็บเงียบแล้วตุนหรือเทขายเพื่อตนเองได้ประโยชน์)

ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้เราภาคครัวเรือนต้องมีสติ อะไรที่สุ่มเสี่ยงก็เตรียมป้องกันสักหน่อยครับ ตอนนี้ผมใช้วิธีแบบที่เห็นในรูปโดยเอาถุงขยะห่อหุ้มแล้วใช้สายรัดรัดให้แน่นโดยพับปากถุงครั้งหนึ่งก่อนเพื่อให้โค้งงอป้องกันน้ำซึมทีละนิด และใช้ถุงแบบหนา (ตัวอย่างทดลองดูถุงบางเกินไปต้องเพิ่มอีก) ทีนี้ก็ถึงคราวน้ำท่วมก็ไม่ใช่ปัญหาไม่ว่าขนย้ายทันหรือไม่ทัน อย่างน้อยก็อยู่ได้หลายวันครับ...

ตอนนี้ต้องเตรียมระวัง และมีสติ หาทางออกและคิดเสมอว่าเหตุการณ์บางอย่างอาจจะเกิดขึ้นได้แล้วหากเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร คราวนี้เตรียมไว้แล้วน้ำไม่ท่วมจริง (บางพื้นที่) ก็ถือว่าซ้อมใหญ่นะครับ จะได้ไม่เครียดและคิดว่าเสียเวลา...

ภาพน้ำในคลองติดถนนวิภาวดี 13

22102011489 by yothinin
22102011489, a photo by yothinin on Flickr.
น้ำในคลองนิ่ง สีคล้ำดำเกือบสนิท เริ่มส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ช่วงนี้หากมีการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดีและร่วมมือร่วมแรงกันหลายฝ่ายแล้วหากคิดจะนำเอาน้ำเหนือที่เอ่อล้นรอวันพังทลายแนวกั้นนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยนำมาผลักดันน้ำเสียที่มีอยู่ในลำคลองให้ระบายออกไป โดยมีการควบคุมและดูแลช่วยกันจากหลาย ๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน เพื่อเป็นการระบายน้ำไปในตัวพร้อมกับล้างคูคลองด้วยก็เป็นการดี

ไหน ๆ ก็รอวันให้น้ำท่วมอยู่แล้ว เครียดกันแทบบ้าก็เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสกันเถอะมาร่วมกันลอกท่อล้างคลองกัน ไม่แน่นะเราอาจจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการป้องกันน้ำมากเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฤาว่า...สังคมเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทางการสื่อสาร

ช่วงนี้ได้เข้ามาใช้ facebook อีกครั้งหนึ่งเพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารฝ่ายเดียว และเป็นการสื่อสารที่มุ่งร้ายจนเกิดความเสียหายในกลุ่มที่ทำงาน จนเกิดความแตกแยกเป็นพรรคพวก (มีทุกขนาด, 1 คน 1 พวกก็มี)

และเมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นสมควรเพราะหากปล่อยไว้จะกลายเป็นยอมรับเหมือนกับที่เราเสียเขาพระวิหารไปเมื่อ 50 ปีก่อน เพราะการพิจารณาในครั้งถือว่า ไทย ยอมรับอาณาเขตของฝรั่งเศสที่มีอำนาจเหนือเขาพระวิหารเพราะฝรั่งเศสชักธงขึ้น แล้วมีพระรูป (รูปถ่าย) ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงประทับบนเขาพระวิหารด้วย

การไม่ทักท้วงถือว่ายอมรับความจริง เป็นกฎเกณฑ์ไปเสียแล้วในสำหรับสังคมปัจจุบัน จริง ๆ แล้วก็แลดูเหมือนเห็นแก่ตัวอย่างมาก และจะขัดกับกฎเกณฑ์ของสังคมไทยในอดีตด้วยซ้ำไป

ดังนั้นจึงมาเขียน สื่อสารกันบนสังคมออนไลน์กันอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าบางกลุ่มบนสังคมออนไลน์ก็ไม่ได้แตกต่างจากสังคมเสื่อมโทรมและถือว่าเป็นสลัมออนไลน์เหมือนเดิมครับ แต่สำหรับกลุ่มดี ๆ ก็ยังมีอยู่ไม่ขาดหาย ไม่ว่าสังคมจริง สังคมออนไลน์ก็ไม่ต่างกันแล้วแต่ว่าเราจะเลือกอยู่ในกลุ่มไหน แต่ไม่น่าเชื่อว่า... หลายคนเลือกกลุ่มที่ไม่ค่อยประเทืองปัญญามีแต่สังคมก่นด่า และส่งข้อมูลโดยไม่กลั่นกรอง ใช้ความเป็นสื่อออนไลน์โจมตีให้ร้ายป้ายสีผู้อื่น และทำอะไรตามใจชอบโดยไม่สนใจผลกระทบ

ปัจจุบันปัญหาผลกระทบจากสื่อชนิดนี้คือ ความไม่น่าเชื่อถือของสารที่ได้รับ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลดิบ (Raw data) มันยังไม่เป็นสาระสนเทศ (Information)

การบริโภคข่าวสารที่ไม่ได้รับการกลั่นกรองกลับทำให้เกิดความเสียหาย ความล่าช้า และความสนุกสนานของกลุ่มคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เป็นต้นว่า การแตกตื่น โกลาหล การโจมตี กล่าวหามุ่งร้ายผู้อื่น การปล่อยข่าวโคมลอย เป็นต้น

โดนเฉพาะปัจจุบันยุคออนไลน์การส่งข้อมูลทำได้ง่ายแค่มือถือราคาหนึ่งพันบาทก็สามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย และการส่งข้อมูลออกง่ายแสนง่ายกดปุ่มไม่กีปุ่มก็เรียบร้อยแล้ว แต่ผลที่ได้มันช่างน่ากลัวเสียจริง ๆ

ไม่กี่วันนี้มีการส่งข่าวสารผ่าน ทวีตเตอร์ เฟสบุ้ค และ กูเกิ้ลพลัส ข่าวเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน และนายกรัฐมนตรีทั้งในทางดีทางไม่ดี และส่งเสียงแรงเชียร์ตามการสนับสนุนหรือเกลียดชังของตนเอง และมีการส่งต่อแชร์ไปเรื่อย ๆ จนไม่มีการกลั่นกรองในที่สุดก็เป็นการนำเอาภาพเก่า ๆ มาลงใหม่ นี่แหละอานุภาพของการหลั่งไหลของข่าวสาร จริง ๆ แล้วมันร้ายกาจยิ่งกว่าน้ำท่วมเสียอีก (Water flood VS Information flood)

ลองดูวิธีการตรวจสอบในเว็บนี้ครับ

ดังนั้นก่อนที่จะสื่อสาร ส่งสารอะไรใช้สติปัญญาคิดสักนิด อย่าให้ปัญญากลายเป็นปัญหา แล้วจะลำบาก และการรับสารก็ควรใช้สมองคิดไตร่ตรองให้ดี บางคนแค่รับข่าวสารมาปุ๊บกดปุ่มโทรศัพท์ปั๊บเพื่อแสดงออกหรือส่งต่อ

ลองคิดถึงคำพูดของคนโบราณที่กล่าวว่า ก่อนพูดเราเป็นนายมัน หลังพูดมันเป็นนายเรา...

เหมือนกับครับ ก่อนเม้นท์เราเป็นนายมัน หลังเม้นท์มันเป็นนายเรา... หลายคนตายตอนจบเพราะการแสดงความคิดเห็นหรือการสื่อสารอย่างฉับพลันนี่แหละ... หรือว่าไม่จริง...

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิธีการศึกษาธรรมะเพื่อเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

จริง ๆ ก็ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนที่ธรรมะ ธรรมโม แบบดีเด่นเลิศเลออะไร (เดี๋ยวจะมีคนหมั่นไส้ ช่วงนี้มีเยอะเสียด้วย) และไม่ได้เป็นการสอนคนอื่นแต่เป็นการแชร์ประสบการณ์ตนเองที่ผ่านประสบพบร้อนหนาวมาหลายปี

เริ่มจากเมื่อก่อนได้อยู่ในแวดวงกาสาวพัตรกับเขาเหมือนกันตั้ง 5 ปี ศึกษาธรรมะตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี โทและเอก ถือว่าเป็นผู้รู้ตามหนังสือคนหนึ่ง ใครถามตอบได้ วิชาที่ชอบคือกระทู้ธรรม แต่ผู้อ่านเชื่อไหมว่า

การศึกษาธรรมะในครั้งนั้น เรียนรู้เพื่อเอาชนะคนอื่น หากใครพูดผิดจะรีบคัดค้าน และสาธกยกเรื่องราวต่าง ๆ มาอ้างอิงเป็นตุเป็นตะและจะลำพองตนว่าเป็นผู้รู้...

เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ความคิดเช่นนั้นยังฝังรากลึกจนถลำหนัก หนังสือธรรมะเต็มบ้าน แต่ก็เพียงเพื่อรู้และพูดคุยแสดงความคิดเห็น ทำนองข้ารู้ ข้าเก่ง

ในที่สุดเมื่อสองปีที่ผ่านนี้ได้เข้าร่วมชมรมธรรมะ (ชมรมภูวธรรม) เริ่มต้นเขียนเว็บธรรมะ และต้องศึกษาหาข้อมูลมาใช้ในการเขียนบทความต่าง ๆ บังเอิญได้กลับไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเข้าคือ พุทธธรรม ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เข้า

ตาสว่างทันที... "เราหลงโง่อยู่ตั้งนาน..."

ที่แท้เราเรียนรู้ธรรมะมาผิดวิธีตั้งแต่ต้น เราเรียนรู้จากภายนอก จากการประยุกต์ใช้ของคนอื่นมาทั้งหมด เรื่องไหนที่ยากไม่ว่าอิทัปปัจจยตา ไตรลักษณ์ อภิธรรมก็ไม่เว้นศึกษาหมด แต่ประโยชน์ที่ได้กลับน้อยนิด มันเลือนรางจนไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจน

การเริ่มต้นของหนังสือพุทธธรรมคือ เริ่มศึกษาจาก อายตนะภายใน ภายนอก 6 อย่าง โดยเริ่มจริง ๆ เป็นการศึกษาตัวเราเอง โดยเข้าใจเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง

สิ่งทั้งสามอย่างเรียกว่า อาสวะกิเลส อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน กล่าวคือตั้งแต่เกิดมาเรามีสิ่งนี้ตามมาด้วย มีโลภะ ความอยากได้ใคร่มีใคร่เป็นอยู่เสมอ มีความโทสะคือไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น มีโมหะความลุ่มหลงมัวเมาในอวิชชา คือไม่รู้ผิด ชอบ ชั่วดี...

ทั้งหมดนี้มันฝั่งในจิตใจแต่แรกแล้ว เพียงแต่มันจะแสดงตามแรงกระตุ้นวันไหน ยามใดไม่ทราบ

ดังนั้นหากใครที่สามารถสะกดไม่ให้อาสวะกิเลส (อ+สวะ+กิเลส, ไม่+ลอย+เครื่องเศร้าหมอง, กิเลสที่นอนเนื่องในกมลสันดาน) ก็ทำให้เป็นสุขได้... เพียงแค่นี้เองครับ

ทีนี้บ่อเกิดแห่งอาสวะกิเลสเล่าครับ ก็มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่สัมผัสหรือรับรู้กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เมื่ออายตนะภายในกับภายนอกมาประทะกันจะเป็นแรงกระตุ้นกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นได้แสดงออกมา...

แค่นี้จริง ๆ สำหรับบ่อเกิดแห่งความทุกข์ หากเราสามารถละทิ้งการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นเหล่านี้ได้ทีละน้อยจนหมดทั้งสิ้นก็สามารถสร้างความสุขได้...

เห็นหรือยังครับว่า การศึกษาธรรมขั้นต้น ต้องเริ่มที่การศึกษาตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปดูคนอื่นว่าจะเป็นอย่างไร ดูตัวเองดีกว่าครับ เพราะดูแต่คนอื่นมักจะลืมตัวว่าตนเองดีแล้วคนอื่นแย่ หรือถ้าคนอื่นดีกว่าก็จะรู้สึกต่ำต้อย น้อยเนื้อต่ำใจ การเป็นอิจฉาตาร้อนไปเสียอีก

เมื่อรู้จักและเรียนรู้กับกิเลสได้แล้วขั้นต่อไปจะมาเอง... ผู้ที่ประสบผลสำเร็จด้านการปฏิบัติธรรมเขาก็เริ่มจากตรงนี้กันทั้งนั้น...

(บางส่วนของการคุยเรื่อง การพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับพนักงานคอลเซ็นเตอร์)

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์, ธรรมะ และศิลปะ

วันนี้มีปฐมนิเทศพนักงานคอลเซ็นเตอร์ใหม่ เบื้องต้นได้แนะนำเกี่ยวกับบริษัทฯ และแนวคิดในการพัฒนาตนเอง โดยการฝึกอบรมของผู้เขียนจะเน้นหนักในเรื่องการปรับปรุงพัฒนาตนเอง โดยยึดหลักตามพุทธสุภาษิตสองบทคือ
ทนฺโต เสฎฺโฐ มนุสฺเสสุ
มนุษย์ประเสริฐได้เพราะการฝึกตน

และ 
อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

โกหิ นาโถ กโร สิยา
บุคคลอื่นนั้นเล่าใครพึ่งได้

อตฺตนาหิ สุทนฺเตน
อันบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว

นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ย่อมได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นได้ยาก

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ความสำเร็จเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา โดยเฉพาะงานด้านการบริการ เมื่อลองค้นคว้าตามหนังสือทั่วไปก็มีหลากหลาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลองค้นจาก google แล้วพบวิธีแห่งความสำเร็จมากมายนับไม่ถ้วน

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วได้ใช้เวลาไตร่ตรอง กลั่นกรอง สรุปแนวทางไว้ 6 ประการ โดยวิธีการเหล่านี้เป็นทักษะที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ กล่าวคือ ทักษะขั้นที่ 1 จะส่งผลไปยังทักษะขั้นที่ 2 3 4 และ 5 6

สองมาตรฐานแย่จริงหรือ

เดิมทีที่กระโดดเข้ามาสู่แวดวงการบริการนั้นด้วยความคิดว่าอยากทำอยากรู้ว่า การบริการคืออะไร และคุณภาพ คืออะไร แล้วมาตรฐานล่ะ เกี่ยวอะไรด้วย

มองสองสามปีที่ผ่านมานี้เรามักได้ยิน ได้ฟังทัศนะเกี่ยวกับการเมือง การปกครองของรัฐบาลเจ้าสัวว่าเป็นการบริหารแบบสองมาตรฐาน ทำให้ผู้เขียนคิดอยู่พักหนึ่งว่าสองมาตรฐานไม่ดีตรงไหน แล้วอะไรเรียกว่าสองมาตรฐาน และมาตรฐานเดียวดีจริงหรือ

ครั้งแรกกับ Blogger.com

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน

ครั้งแรกสำหรับที่นี่แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกไซเบอร์ ด้วยความพยายามที่จะสร้างเว็บไซต์เพื่อแสดงข้อมูลข่าวสารหลายต่อหลายครั้งก็ไม่ลุล่วงได้เลย เริ่มแรกก็ทำท่าจะดีแต่พอผ่านไปได้สักระยะก็เริ่มมีปัญหาเรื่องเวลาและการจัดการ การดำเนินการ ทำให้หลาย ๆ เว็บถูกปิดเพราะลืมจ่ายเงินค่าโดเมน

คราวนี้ก็ลองมองหาว่าจะทำอย่างไรโดยที่ให้พื้นที่และข้อมูลยังอยู่อย่างยาวนานเสียที คิด ๆ ไปก็เสียดายข้อมูลที่หายไปกับเว็บแต่ละครั้ง

ความตั้งใจมีหลากหลายเริ่มจากการสร้างเว็บเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การสื่อสาร การพัฒนาระบบ VoIP การถ่ายภาพ ธรรมะ และสุดท้ายเกี่ยวกับงานคอลเซ็นเตอร์ แต่ตอนนี้ก็ไม่เหลือแม้แต่เว็บเดียวเพียงเพราะระบบความล้มเหลวของการจัดการ และเวลาในการจัดการเนื้อหาสาระ

สุดท้ายก็หันกลับมามองเว็บกลางที่เป็นสาธารณะ แต่ก็มีเว็บบล็อกอยู่แห่งหนึ่งแล้วคือ GotoKnow.org ซึ่งก็เขียนบ้างไม่ได้เขียนบ้างตามวันเวลา คราวนี้ก็มองลงไปอีกว่าอยากทำให้ให้มันอยู่ในกลุ่มเดียวเสียเลย มันจะเป็นอะไรไปก็เป็นไปเสียทั้งหมด ประจวบกับใช้งานอยู่บน Google มาตลอดไม่ว่าเป็นเอกสาร ปฏิทิน รูปภาพ และล่าสุด google plus ก็เลยคิดว่าจะลงหลักปักฐานอยู่ใน blogger.com ดูสักครา ว่าจะเป็นอย่างไร

ก็ต้องฝากไว้กับผู้อ่านที่มีแนวคิดตรงกันว่าจะเอื้อเฟื้อเสนอแนะ เพื่อให้การแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพ มาตรฐานการบริการและอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต

หากใครมีแนวคิดอย่างไรอย่ารอช้า พบปะ พูดคุยกันได้นะครับ ขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ ณ โอกาสนี้...
ขอบคุณครับ...