วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ กับ "วัฒนธรรมตามใจผู้สร้าง"

หลายครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงการพัฒนาสิ่งต่างๆ ของผู้คนในบ้านเรามักเป็นแบบ "เริ่มใหม่" ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเป็น "ที่สุด" ไม่ว่าจะเป็น คนแรกสุด คนคิด คนสร้าง แม้กระทั่งหลายๆ เว็บไซต์หรือโพสต์ในแฟนเพจของเฟสบุคก็ยังมี คอมเม้นท์แรกสุด...

อีกประการหนึ่งคนไทยส่วนใหญ่ "บ้า... ที่สุดในโลก" ประเภท แห่งเดียวในโลก ใหญ่ที่สุดในโลก จนเกิดการแข่งดี บ้าดีกันที่สุดในโลก เช่นกัน

การพัฒนาเช่นนี้กลับเป็นการเร่งการทำลายในหลายด้าน ไม่ว่ารากเหง้าของสังคม ทำลายองค์ความรู้ต่างๆ เพราะแนวคิดที่ "ไม่ยอมรับความสามารถของผู้อื่น" สิ่งดีๆ ต่างๆ จะต้องเกิดจากตนเองเท่านั้น

แนวคิดแบบนี้ทำให้คนหลายคน (โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในส่วนของการบริหารจัดการ หรือผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลทางความคิด ทางการกระทำ) มักจะทำอะไรใหม่ๆ ตามใจตนเอง โดยไม่มองบริบทรอบด้าน ไม่มองความเป็นจริง ไม่มองความถูกต้อง ไม่มองถึงผลกระทบและปัญหา ทำให้สังคมบ้านเรากลายเป็นสังคมที่ยึดถือไม่ได้ เพราะข้อมูลเท็จมากขึ้นทุกวัน



ผู้เขียนต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญด้านโบราณคดี หรือประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้จักกับใครๆ ในการสร้างพระพุทธรูปที่เมืองอู่ทองด้วย แต่เป็นผู้ที่ใคร่รู้ทางศิลปะ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของมนุษย์ เพื่อนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง และกระจายไปสู่การพัฒนาบุคคลอื่น (โดยการชี้แนะให้พัฒนาตนเองเป็นหลัก)

จากการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์แล้วเอกสารทั้งหมดระบุว่า พื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี คือ เมืองท่าในยุคสมัยทราวดี และคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสุวรรณภูมิ โดยพบโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่เป็นงานศิลปะสมัยทวารวดีหลากหลาย และบางชิ้นบ่งบอกถึงความเป็นเมืองท่า เพราะพบสินค้า เครื่องประดับที่ไม่มีแหล่งที่มาในราบลุ่มย่านนี้ แต่พบได้ในตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งการเดินทางสมัยนั้น คือ "การเดินเรือ"

การจำลองเรือสินค้าสมัยทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง


พระพุทธรูปที่ค้นพบในเมืองอู่ทอง คือ พระพุทธศิลปะสมัยทราวดี และคุปตะ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นแตกต่างจากพระพุทธรูปสมัยอื่น

พุทธศิลปะสมัยทวารวดี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่น จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พระพุทธรูปแกะสลักสมัยทวารวดี ที่มีเอกลักษณ์เค้าโครงพระพักตร์เป็นเอกลักษณ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พระพุทธรูปปางแสดงธรรม มีลักษณะผสมผสานกับศิลปะพื้นเมือง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

พระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา

พ่อแก่ พระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทอง รุ่นที่ 2 เนื่องจากคาดว่ามีรัศมีเปลว ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยวัดธรรมิกราช คาดว่าจะสร้างในช่วงเจ้าสามพระยา (รศ. ดร.ศักดิ์ชาย สายสิงห์)

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ เดิมทีน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนา ศิลปะทวารวดี แต่บูรณะเป็นปางป่าเลไลยก์ในสมัยหลัง จึงถือว่าเป็นพระพุทธรูปรูปแบบ อู่ทอง รุ่นที่ 2 เพราะมีเปลวรัศมี

จากรูปภาพประกอบที่นำมาแสดงจะเห็นถึงพุทธศิลปะสมัยทวารวดีและพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ซึ่งยุคสมัยต่างกันมาก สมัยทวารวดีอยู่ใน พุทธศษตวรรษที่ 8-16 แต่สมัยอู่ทองเริ่มสมัยหลังศิลปะบายน หรือคาบเกี่ยวกัน

และการนำเอารูปภาพมาแสดงนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสภาพข้อเท็จจริงของเมืองอู่ทองที่เป็นเมืองท่าสมัยโบราณ เป็นแหล่งชุมนุมพ่อค้าวาณิช ก่อนที่จะไปค้าขายต่อในเมืองจีนและดินแดนในแถบสุวรรณภูมิ ซึ่งถือว่า อู่ทอง เป็นแหล่งวัฒนธรรมโบราณควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบค้นเพื่อศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ล่าสุด (2557) มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่โดยการแกะหินทั้งองค์จากภูเขา ที่ภูเขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยมีมูลเหตุจากการค้นพบของนักประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่พบจารึกดินเผาที่มีตัวอักษรปัลวะ จารึกไว้ว่า "ปุษยคีรี" จากประชุมจารึกระบุว่าพบใกล้กับวัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม ตำบลคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี แต่หลักฐานใหม่ เชื่อว่า ภูเขาปุษยะ คือ ภูเขาทำเทียม และแหล่งค้นพบน่าจะเป็นที่เมืองอู่ทองนี่แหละไม่ใช่เมืองคูบัว

อย่างไรก็ตามคำว่า "ปุษยคีรี" สอดคล้องกับสถานที่สำคัญในสมัยพระเจ้าอโศก คือ "ปุษปคีรี" ชื่อสังฆารามอันศักดิ์สิทธิ์ในรัฐโอริสสา รัฐที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา (แต่ก็ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว)


จารึก "ปุษยคีรี" จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

นักวิชาการคาดว่า เขาปุษยคีรี คือ ภูเขาทำเทียม เพราะได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก และภูเขาทำเทียมเป็นภูเขาสำคัญของเมืองอู่ทองในการกำหนดทิศทางในการเดินเรืออีกทางหนึ่ง

จากข้อมูลที่กล่าวมานี้ หากจะสร้างพระพุทธรูปบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในอดีตแล้ว ย่อมต้องหลีกหนีชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถสะกดให้ผู้ฟังหันหลังกลับมาฟังว่าหมายถึงอะไร นั่นคงหนีไม่พ้นคำว่า พระพุทธปุษยคีรี และปัจจุบันได้สร้างพระองค์ใหญ่โดยต่อเติมชื่อแคว้นเข้าไปด้วยเป็น "พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ" ฟังจากชื่อแล้วมีความขลัง มีศักดิ์และสิทธิ์สมกับความรุ่งเรืองของเมืองอู่ทองในอดีต และจินตนาการตามชื่อ ยุคสมัยในประวัติศาสตร์แล้ว พระพุทธรูปที่สร้างย่อมเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีอย่างแน่นอน...

"ผิดถนัด" จินตนาการสะดุดขาดวิ่นเหมือนถูกดึงกระชากประดุจดั่งหลุดไปในกระแสคลื่นของกาลเวลา

จากข้อมูลที่เดินทางไปดูสถานที่จริง และท่องเที่ยวไหว้พระกลับพบว่า พระพุทธรูปที่สร้างนั้นเป็นพุทธศิลป์ "สมัยอู่ทอง" นัยว่าให้เข้ากับชื่อเมือง คือ "เมืองอู่ทอง"


หน้าวิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์มีองค์ต้นแบบหลวงพ่ออู่ทอง ปางมารวิชัย ที่จะแกะบนหน้าผาภูเขาทำเทียม

เมื่อเดินเข้าไปในเขตวิหารพบป้ายโฆษณาร่วมบริจาคสร้างหลวงพ่ออู่ทองกลับเป็นปางประทานธรรมเทศนา

สถานที่จริงได้พูดคุยกับคนแถวนั้นบอกว่าแกะเป็นองค์พระทั้งองค์ไม่ใช่การแกะสลักบนหน้าผา

ป้ายเชิญชวนร่วมพิธีแกะพระพุทธรูปบุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือ หลวงพ่ออู่ทอง ปางโปรดพุทธมารดา

ป้ายแสดงเจ้าภาพในการสร้างอาศรมเข้าใจว่าจะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

ด้านหน้าทางเข้ามีพระโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมซึ่งเป็นลักษณะของพุทธศิลป์อู่ทอง (มีกลีบบัว?)
ส่วนพระที่จะสร้างเห็นช่างแกะ (ไม่แน่ใจว่าเป็นใคร) ระบุว่าจะแกะองค์พระใหญ่ทั้งองค์ ทั้งหมด 5 องค์ โดยที่เห็นอยู่นั้นแกะองค์เล็กก่อนเป็นการทดลอง เพราะไม่แน่ใจว่าหินที่จะแกะนั้นจะมีความแข็งแรงหรือไม่ และหากพังทะลายก็เตรียมซ่อมแซมไว้แล้ว

จากเดิมที่สงสัยว่าปางพระพุทธรูปทำไมไม่เหมือนกัน คงจะสอดคล้องกับคำบอกเล่าว่า แกะทั้งหมด 5 องค์ แต่ทั้งหมดนั้นเรียก "หลวงพ่ออู่ทอง" เหมือนกันหมด แต่มีปางต่างๆ อีก 5 ปาง (ไม่แน่ใจ)

ประเด็นปัญหาของผู้เขียน คือ เสียดายชื่อ และเกรงกลัวความเข้าใจผิดของคนรุ่นหลัง เพราะการยัดเยียดประวัติศาสตร์ที่ผิดหรือ ยัดเยียดข้อมูลทางโบราณคดีที่ผิดพลาด (อาจจะไม่ตั้งใจ)

คนรุ่นหลังอาจจะเข้าใจไปว่า พระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทองที่จะปรากฏต่อไปในภายภาคหน้านี้มีรากฐานมาจากอดีต เพราะแหล่งที่ตั้งนั้นเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และความสับสนจะบังเกิดว่า สรุปแล้วพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รุ่งเรืองของศิลปะอะไรกันแน่ระหว่าง สมัยทวารวดี กับศิลปะแบบอู่ทอง

ไม่แน่ใจว่าเมื่อนักวิชาการหลายคนได้ทักท้วงแล้ว แต่ยังมีการเดินหน้าสร้างกันต่อไป โดยไม่มีการทบทวนนั้นเพราะอะไร ทำไมไม่ยึดตามหลักความจริง ความสอดคล้อง หรือเพียงเพราะชื่อสอดคล้องกับชื่อบ้านนามเมืองเท่านั้น...

บทความนี้คงไม่มีผลกระทบอันใด แต่ผู้เขียนอาจจะได้รับคำก่นด่าในภายหลังจากผู้มีจิตศรัทธา แต่ก็ขอให้รับรู้ไว้ว่า ศรัทธากับความจริงนั้นต้องสอดคล้องกัน ตามหลักพุทธศาสนา ใช้ศรัทธาเป็นตัวนำเพื่อให้คนที่เชื่อได้รับรู้ความจริงในภายหลัง และสุดท้ายกลายเป็นไม่ยึดติดศรัทธาและความเชื่อ แต่ได้ค้นพบความจริงอันแท้แน่นอนนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงอันใดคงจะไม่เกิด และคงยากที่จะเกิด เพราะหากมีเรื่องศรัทธา และการบริจาคเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ คือ ผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนก็ยากจะรู้ รวมถึงไม่อยากรู้ว่า ใครบ้างที่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างในครั้งนี้ แต่ถ้าจะให้ประชาชนทั่วไปได้รับผลประโยชน์แล้ว เราต้องพูดความจริง สร้างสิ่งที่เป็นความจริง เพื่อให้ "ถูกต้อง" ไม่ใช่ "ถูกใจ"... นี่แหละวัฒนธรรมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังเป็นรากฐานของสังคม "วัฒนธรรมตามใจผู้สร้าง"...

ภาพประกอบถ่ายด้วยกล้อง Canon 400D+EF-28mm f/1.8 (ยกเว้นภาพจากอยุธยา)

อ่านประกอบ:
(เพิ่มเติมภายหลัง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น