วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กรอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์: ธรรมะ ศิลปะ และประวัติศาสตร์

(สืบเนื่องจากเดิมเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งเรื่อง ประวัติศาสตร์ ธรรมะ และศิลปะ วันนี้จึงเขียนต่อในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บ้าง)

การพัฒนาทรัพยามนุษย์ในปัจจุบันจะอยู่ในเรื่อง การฝึกอบรม และ On-the-job-training เป็นหลักใหญ่ มีระบบพี่เลี้ยง (Monitoring) บ้าง และอื่นๆ ลดน้อยไปตามลำดับ แต่โดยพื้นฐานเมื่อคิดถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้วไม่พ้นการฝึกอบรม การสัมมนา เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าวิธีอื่น

สำหรับผู้เขียนที่สังเกตการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ศึกษาหาอ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีนี้กลับพบว่าวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ได้อย่างมาก 10-20% โดยเฉพาะการอบรมภาคบังคับ ไม่ไปไม่ได้ ไม่ไปมีเรื่อง ไม่ไปต้องเขียนรายงาน หรือมีผลต่อการประเมิน สิ่งเหล่านี้ได้แต่ปริมาณ ไร้ซึ่งคุณภาพ สุดท้ายกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ




ตามหลักแล้ว การฝึกอบรมเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานประจำที่กำลังทำอยู่ เมื่อผลการปฏิบัติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เกี่ยวข้อง (หนีไม่พ้น HR) ต้องสืบเสาะค้นหาสาเหตุ และดำเนินการแก้ไข นั่นคือ การฝึกอบรม (Training) โดยเป้าหมายคือ การพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานตามเป้าหมายขององค์กรหรือหน่วยงานได้

เมื่อจัดการกับงานปัจจุบันให้เป็นไปตามเป้าหมายได้แล้ว ต่อไปก็ต้องดูเรื่อง การพัฒนาบุคคล (Individual Development) ให้ก้าวหน้า ให้มีความรู้ มีความสามารถ มีเจตคติ มีคุณค่าที่ดีต่อองค์กร เพื่อรองรับการขยายตัวขององค์กรในอนาคต โดยมุ่งเน้นงานในอนาคต วิธีการพัฒนาจึงเป็นการให้ การศึกษา (Education) กับพนักงานเพื่อให้รองรับตำแหน่งใหม่ หรือก้าวหน้ามากกว่าเดิม

แต่อย่างไรก็ตามองค์กรต้องพัฒนาตามไปด้วย ต้องสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ต้องก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) การขับเคลื่อนองค์กรจึงเป็นการพัฒน (Development)

สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่ องค์กร ต้องคิด คนในองค์กร โดยเฉพาะแกนนำ หัวหน้า ผู้จัดการทั้งหลาย และ HR ไม่ว่า HRD หรือ HRM ต้องตระหนักอยู่เสมอ ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของ HR เพียงแต่ผู้เดียวที่รับภาระในการสร้างคน จะเห็นได้ว่า คนทั้งองค์กร ต่างหากที่มีภาระในการสร้างคนให้มีศักยภาพ เริ่มจาก บุคคลหรือพนักงาน ต้องพัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง มุ่งเน้นการเป็นคนคุณภาพ ถัดมา HR ต้องกำหนดขอบเขตในการพัฒนา โดยค้นหาเหตุปัจจัยในช่องว่างของผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมาย

ที่ขาดไม่ได้หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้บริหารระดับต้นเป็นกำลังหลักในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพัฒนาคนในสังกัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เปรียบเสมือน พ่อแม่ที่ต้องสั่งสอนลูกหลานก่อนจะผลักเป็นภาระของครู (HR)

สุดท้าย องค์กร (Organization) ต้องช่วยเป็นฐานใน การพัฒนา (Development) สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา การเรียนรู้ เกิดขวัญกำลังใจ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล จริยธรรม คุณธรรม หลักธรรมต่างๆ สาระพัดเท่าที่จะนำมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ กรอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ สำหรับข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงหลักการพัฒนาที่นำเอา ธรรมะ ศิลปะ และประวัติศาสตร์มาช่วยในการพัฒนาดังรายละเอียดที่จะขยายความตามลำดับต่อไป
...ศึกษาธรรมะเพื่อพัฒนาจิตใจ, ใช้ศิลปะเพื่อขัดเกลาเป็นเบ้าหล่อหลอม คัดแยกพฤติกรรม ความละเอียดอ่อน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อศึกษาความเป็นมา ตระหนักรู้คุณค่าของมนุษย์และสังคม...

ธรรมะเพื่อการพัฒนา

หลายคนเมื่อกล่าวถึงคำว่า ธรรมะ แล้วมักจะเบือนหน้าหนี คิดถึงต้องเข้าวัด ฟังธรรม ฟังพระเทศน์ หนักเข้ามองไปถึงบางองค์กร นิมนต์พระมาเทศน์เสียเลย ซ้ำร้ายแทนที่จะเทศนาสั่งสอนให้เป็นคนดี พระกลับมาสอนเรื่องการบริการ การทำงาน การบริหารเสียนั่น (มิได้ปรามาส แต่พระท่านก็เป็นพระอยู่แต่ในวัดจะไปรู้อะไรเกี่ยวกับการบริการเล่า ยิ่งเรื่องการบริหารซ้ำแล้วไปกันใหญ่ เพราะท่านก็อ่านจากหนังสือมาเช่นกัน)

แต่หลักการที่แท้จริงของผู้เขียนที่นำเอาธรรมะมาชูประเด็นในการพัฒนาบุคลากร คือ การนำเอาข้อปฏิบัติ หลักการ เหตุผล วิธีการมาใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง เพราะหลักพุทธศาสนา คือ หลักการพัฒนาตนเอง ไม่ได้มองไกลไปจากตนเองเลย เมื่อประสบผลสำเร็จ หรือมองเห็นผลสำเร็จแล้วค่อยนำไปสั่งสอนคนอื่น

ดังนั้นธรรมะที่เน้นคือ ธรรมะเพื่อการพัฒนาตนเอง เริ่มต้นเรียนรู้จากตนเอง ผ่านขันธ์ 5 ประกอบด้วย (1) รูปขันธ์ คือ สิ่งที่มองเห็น ร่างกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้รู้จักร่างกายตนเอง รู้จักประมาณกำลังตนเอง  (2) เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกที่รับรู้ได้ เช่น สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (3) สัญญาขันธ์ การรับรู้ การจำได้หมายรู้ เป็นระดับการความจำ เป็นพื้นฐานของร่างกายเรา (4) สังขารขันธ์ เป็นเรื่องการปรุงแต่ง การคิดต่อเติมเสริมแต่ง เป็นระดับการคิด ตัวนี้แหละที่สร้างปัญหาอยู่ทุกวันนี้ และ (5) วิญญานขันธ์ คือ การรับรู้ผ่านทาง อายตนะภายในภายนอกทั้ง 6 เป็นการรับรู้แล้วส่งผ่านไปยังส่วนอื่นๆ

วิญญาณ -> สังขาร ->สัญญา -> เวทนา -> รูป

เมื่อเกิดการรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และสัมผัส ผ่าน ตาหู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะส่งผ่านไป สังขาร ทำให้เกิดการคิดปรุงแต่ง โดยนำเอา สัญญาเก่า หรือสิ่งที่จำได้นั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการประมวลผล ทำให้เกิด เวทนา คือ ความรู้สึก สุข หรือ ทุกข์ หรือ เฉยๆ แล้วส่งผลไปยัง รูป คือ ร่างกายของเรา ให้เกิดปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดพฤติกรรมนั่นเอง จะเห็นได้ว่าหลักการทางพุทธศาสนาเน้นเรื่อง ตัวเรา อันเป็นพื้นฐานการเกิดพฤติกรรม

แค่นี้ ง่ายๆ พื้นฐานการเรียนรู้หลักธรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาคนแค่นี้จริงๆ แต่มันทำได้ยากมาก เพราะเรื่องนี้เรียนกันไม่รู้จบ คนที่เรียนพระอภิธรรมเก่งๆ ก็เรียนกันในเรื่องนี้ลงลึกไปกว่าจะจบใช้เวลาถึง 10 ปี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนลึกซึ้งขนาดนั้น แต่เราสามารถหยิบยกบางส่วนมาใช้งาน มาพัฒนา มาเรียนรู้ได้้

หลักการพื้นฐานที่เกิดขึ้น คือ กิเลส อันประกอบด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ คือ ความอยากได้ใคร่มี ความไม่อยากได้ไม่อยากเป็น (เมื่อไม่เป็นไปตามต้องการก็โกรธ) และความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก อะไรดีหรือชั่ว เรียกง่ายๆ คือ โลภ โกรธ หลง 3 อย่างนี้เกิดผ่านมาจาก ขันธ์ 5 และ อายตนะภายในภายนอกทั้ง 6 นี่แหละ

นี่คือกรอบการนำเอาธรรมะเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงพนักงาน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ตนเอง พัฒนาที่ตนเอง จากนั้นค่อยเรียนรู้หลักธรรมอื่นๆ เพื่อการอยู่ในสังคม เช่น สังคหวัตถุ 4 ธรรมะเพื่อการบริหาร เช่น พรหมวิหาร 4 ธรรมะสำหรับการทำงาน เช่น อิทธิบาท 4 ธรรมะสำหรับการคิด เช่น โยนิโสมนสิการ และหลักกาลามสูตร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หมด อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ขอเพียงคนที่นำมาใช้เข้าใจ ประดุจดั่งนักรบผู้ชำนาญการใช้อาวุธ เพียงแต่เปลี่ยนจากอาวุธสำหรับประหัตประหาร มาเป็นอาวุธสำหรับทำลายล้างความชั่วร้ายแทน

ศิลปะเพื่อการพัฒนา

ศิลปะเป็นเรื่องความละเอียดอ่อน ความลึกซึ้ง ความปราณีต อ่อนโยน ความสุขุมลุ่มลึก การเชื่อมโยง การคิดที่ละเอียดซับซ้อน ศิลปะเป็นส่วนที่พัฒนาต่อมาจากจิตใจ จะบอกว่า ศิลปะคือผลผลิตของจิตใจก็ได้ เพราะการสร้างสรรค์ศิลปะนั้นเกิดจาก แนวคิดภายใต้สภาวะต่างๆ ของจิตใจ และก่อตัวจนถึงขั้นสูงสุดเรียกว่า ยุคทอง เช่น ศิลปะสุโขทัย ถือว่า เป็นยุคทองของศิลปะไทย นั่นหมายถึง สภาวะจิตใจของคนสมัยนั้นที่กลั่นกรองไปหลอมรวมเป็นศิลปะ ผ่านช่างในยุคสมัย ที่ได้รับการหลอมรวมจากสังคม ก่อให้เกิดศิลปกรรมที่ล้ำค่าได้

ศิลปะเกิดขึ้นจากอำนาจของจิตใจเป็นหลัก (แต่สมัยหลังเกิดจากอำนาจเงินทำให้เกิดเป็นศิลปะแบบไม่ยั่งยืน)

หากศึกษาลงลึกแล้วจะพบว่า ศิลปะต่างๆ ในอดีตคือการรับใช้ศาสนา นั่นแสดงถึงความแนบแน่นของสังคมและศาสนา ทำให้คนในสังคม เกิดการคิด การวิเคราะห์ การเชื่อมโยง เอาหลักการอันดีงามไปเป็นศิลปะทางศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นเบ้าหล่อหลอมสังคมให้เกิดวัฒนธรรมอันดีงาม

ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงสามารถนำเอาศิลปะมาเป็นแกนกลางในการพัฒนาได้ เช่น กิจกรรมทางศิลปะบางอย่างสามารถคัดกรองบุคคล ว่าเป็นคนแบบใด ละเอียดหรือหยาบ มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ ทำให้รู้ถึงวิธีคิด สภาวะจิตใจ มุมมองต่างๆ ได้

และการนำเอาศิลปะมาใช้ในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องการพัฒนาทางด้านจิตใจ เป็นการพัฒนาต่อจากการใช้หลักธรรมะนั่นเอง

ประวัติศาสตร์รากเหง้าการพัฒนา

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ คน หรือมนุษย์ และมนุษย์เรามีเรื่องราวความเป็นมายาวนาน มีรากฐาน รากเหง้าของอดีตมากมาย จนกล่าวได้ว่า หากต้องการเข้าใจเกี่ยวกับคน จำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของคน หรือรับทราบความเป็นมาของคนๆ นั้นด้วย นั่นคือการเรียนรู้พื้นฐานหล่อหลอมของคนนั่นเอง

ไทย ก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน แยกลงไป คนจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ก็มีความเป็นมาเฉพาะ มีรากฐานวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป เมื่อเข้าใจความเป็นมาแล้วเราสามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นพื้นฐานการพัฒนาตามสภาพของคน เป็นการพัฒนาแบบปัจเจกบุคคล (Individual Development, ID)

ที่สำคัญประการหนึ่งประวัติศาสตร์ทำให้เห็นวัฏจักร รูปแทบที่ทับซ้อนของกาลเวลา และประวัติศาสตร์ คาบเกี่ยวกับศิลปะ โดยมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงไปตามหลักของศาสนา จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ เป็นตัวประสานระหว่าง ธรรมะกับศิลปะ ดังนั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ภูมิหลังของคน ทำให้เกิดการเรียนรู้ศิลปะและธรรมะไปในตัว เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์มักศึกษาผ่านศิลปะเก่าแก่ต่างๆ และศิลปะเหล่านั้นมีรากฐานมาจากหลักการทางศาสนาทั้งสิ้น


จากที่กล่าวถึงมาทั้งหมดหากพิจารณาตามจะพบว่า ธรรมะ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ คือ รากฐานของมนุษย์ และธรรมะที่กล่าวถึงไม่ได้เฉพาะหลักของพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานอันดีงามของคนทั้งสิ้น ในบทความนี้จึงนำเสนอกรอบวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ ธรรมะ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ แต่จะเรียนรู้อย่างไร ประยุกต์ใช้อย่างไร พัฒนาอย่างไร จะได้คิดและนำเสนอในลำดับต่อไป... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น