วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ลัทธิหวังผลดลบันดาล... เหลือบมารแห่งพุทธศาสนาโดยแท้จริง

คิดหลายตลบเหมือนกันว่าข้อเขียนนี้แรงไปไหม แต่ก็ตัดใจในประเด็นต่างๆ ออกแล้วมาคิดใหม่ว่าจะนำเสนอเรื่องนี้ สืบเนื่องจากมีข่าวกรณีผู้กำกับหนังคนหนึ่งประกาศเลิกนับถือศาสนาพุทธเพราะที่ผ่านมาทำประโยชน์ให้กับศาสนามาตลอดเวลา แต่วันนี้ศาสนากลับไม่ช่วยอะไรเลย 

ตะลึงไปพักใหญ่เมื่ออ่านข้อความดังกล่าว

รู้สึกสะพรึงกลัวในความคิดเห็นนี้อย่างมาก เพราะเป็นเรื่องของแนวคิดสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการคิดต่อการปฏิบัติในศาสนาของคนนั้นๆ

ที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าคุณประโยชน์ที่สร้างต่อศาสนานั้นคืออะไร หรือเพียงแค่การทำบุญ การสร้างอะไรให้วัดวาอาราม และถือว่าทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่า เข้าใจคำว่าศาสนาผิด โดยเฉพาะศาสนาพุทธ

หรือคิดว่า การนับถือพระเกจิอาจารย์ดังอย่างเลื่อมใสศรัทธาแล้วนั่นคือ การนับถือศาสนาพุทธ ก็ผิดอีกเช่นกัน

แล้วที่บอกว่าชีวิตวอดวายพินาศไปนั้นศาสนาไม่ได้ช่วยอะไร นี่ยิ่งเข้าใจผิด และมีท่าทีต่อท่าทีต่อการเดินเข้าหาศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่า เขานับถือพระพุทธศาสนาเพียงเพื่อให้ศาสนาช่วยให้ประสบผลสำเร็จในชีวิต


เป็นความคิดแบบเหตุเดียว ผลเดียว หรือปัจจัยเดียวก่อให้เกิดผลเพียงอย่างตรงไปตรงมา เช่น ทำดีได้ดี หรือทำชั่วได้ชั่ว แต่ไม่ได้คิดถึงเหตุปัจจัยรอบข้างที่จะอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

จริงอยู่การปลูกพืชอะไรก็ย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว สิ่งเหล่านี้ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นความจริง เป็น fact หรือข้อเท็จจริง แต่ในพุทธศาสนายังมีสิ่งที่ตามมาหลังจากได้บอกความจริงแท้เหล่านั้นแล้วผ่านการปฏิบัติ

ดังนั้นผู้เขียนขออธิบายความตามหลักการที่ได้ศึกษามาจากพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้อธิบายในเรื่องที่คนตัดพ้อว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดีเพราะอะไร โดยสามารถสรุปและยกตัวอย่างได้ดังนี้

การที่คนทำดีแล้วแต่กลับไม่ได้ดีตอบแทนนั้นต้องดูอีกว่ามีปัจจัยอะไรมีผลต่อสิ่งนั้นบ้าง เช่น การปลูกข้าว โดยชาวนาหว่านเมล็ดข้าวลงไปแล้วย่อมแตกหน่อ เติบโตออกมาเป็นต้นข้าว รวงข้าว และเก็บเกี่ยวผลิตผลนั้นได้ นี่เป็นความจริง ปลูกข้าวย่อมได้ข้าวไม่ได้เป็นอย่างอื่นแน่นอน  
แต่สถานการณ์ในโลกนั้นบางครั้ง บางคนอาจจะผิดหวัง เช่น ปลูกข้าวแล้วเกิดฟ้าฝนแล้งย่อมทำให้ข้าวกล้าในนาตายเกือบหมด แบบนี้จะบอกว่าปลูกข้าวแล้วไม่ได้ข้าว แสดงว่าหลักธรรมข้อ ทำดีได้ดี นั้นผิด ก็คงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะปัจจัยอื่น คือ ฟ้าฝนที่แห้งแล้งทำให้ไม่ได้ข้าวต่างหาก  
หรือเมื่อปลูกข้าวได้ผลงามดี แล้วเอาไปขายกลับถูกโกง ไม่ได้เงินก็จะบอกว่า ปลูกข้าวแล้วไม่ได้ข้าวก็ไม่ใช่ แต่ไม่ได้ดี ไม่ได้เงินเพราะมีปัจจัยอื่นอีกมาก

นี่ต่างหากที่หลายคนมักไม่เข้าใจมักมองหลักเดียว เหตุเดียวผลเดียว เมื่อไม่ได้ดั่งหวังแล้วก็พาลบอกว่า หลักธรรมผิด ศาสนาผิด แท้จริงคนคนนั้นต่างหากที่มีท่าที การคิดต่อการปฏิบัตินั้นๆ ผิดไป

ปัจจุบันการเข้าหาศาสนาผ่านสถาบันสงฆ์ที่เรียกว่าวัด และการปฏิบัติต่างพุทธศาสนาของหลายคนยังติดจมปรักอยู่กับเปลือก และกระพี้ของพุทธศาสนา หาได้เข้าใจลึกไปถึงแก่นสารที่แท้จริงไม่

ศาสนาพุทธประกอบด้วยแก่นสารอันเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง (ใช้คำว่าแสดง เพราะพระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผยให้สาธารณะชนได้เข้าถึงความจริงแท้นั้น) กับพิธีกรรมความเชื่ออันเป็นเครื่องชักนำให้ผู้คนเข้ามาสนใจ

ในเรื่องพิธีกรรมนั้นก็เช่นกัน มีขึ้นเพื่อเป็นสัญญานนัดหมาย เป็นเรื่องของการปรับตัวปรับใจให้พร้อมเพียงกันในการกระทำใดๆ ในพุทธศาสนา 

หากสังเกตให้ดีแล้วเราจะพบพิธีกรรมทางพุทธศาสนานั้นเป็นรูปแบบที่นำพาให้ทุกคนเตรียมตัว พร้อมเพียงก่อนที่จะนำเข้าไปสู่จุดหมายที่แท้จริง เช่น
พิธีทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุ เริ่มจากการจุด เทียนสองดอกเพื่อบูชาพระธรรมและพระวินัย อันเป็นตัวแทนของของศาสนา แล้วก็จุดธูป 3 ดอกเพื่อรำลึกและบูชาพระพุทธคุณ 3 คือ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ
ส่วนพระสงฆ์นั้นบูชาด้วยดอกไม้ต่างๆ ซึ่งเปรียบพระสงฆ์เหมือนดอกไม้ ที่มาจากทั่วทุกสาระทิศ เมื่อนำมารวมกันในถาดใบหนึ่งจะดูสวยงามมีระเบียบวินัย
จากนั้นก็กล่าวคำไหว้พระรัตนตรัย เพื่อเป็นการยอมรับบูชาและกล่าวยอมรับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง จากนั้นก็สมาทานศีล 5 ลำดับถัดไปพระสงฆ์ก็สวดพระปริตรตามคำอาราธนาของมัคทายก ทำพิธีถวายภัตตาหารพร้อมจตุปัจจัยต่างๆ พระฉันภัตตาหารแล้วพระให้พรอันเป็นจบพิธี
สิ่งเหล่านี้หากคนไม่เข้าใจแล้วถือว่าเป็นพิธีการที่ขลัง หลังจากพระให้พรเสร็จก็เดินไปพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล ตรงนี้ยิ่งทำให้หลายคนไม่เข้าใจคิดว่าเป็นสิ่งวิเศษวิโส พอๆ กับการแจกเครื่องรางของขลัง
แต่สิ่งที่แท้จริงสำคัญที่สุดกลับอยู่ที่คำสวดพระปริตรนั่นเอง ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ที่แสดงถึงหลักธรรมต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่เกินวิสัยเราๆ ท่านๆ ที่ไม่รู้ภาษาบาลี จึงไม่เข้าใจ ดังนั้นหากงานไหนมีพระมาแสดงธรรมด้วย นั่นแหละคือ จุดมุ่งหมายแท้จริงของพิธีกรรม 
พิธีกรรมมีความหมายให้คนพร้อมเพรียงกัน สงบกายสงบใจเพื่อรับฟังหลักธรรมของพระพุทธเจ้า นี่คือจุดมุ่งหมายของพิธีกรรม แต่คนไม่เข้าใจกลายเป็นเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นยึดถือนำไปสู่การทำเพื่อให้เกิดลาภสักการะ ผ่านการพิธีกรรมและการให้ทาน

จะเห็นได้ว่าพิธีกรรมได้บดบังแก่นสารจนจะหายไปหมดแล้ว คนทั่วไปเข้าวัดก็สำเร็จเพียงขั้นพิธีกรรมเท่านั้น แล้วก็ข้ามไปในเรื่องการให้พร การอวยพรจากพระ และการขอให้ได้ดั่งมุ่งหวังจากการกระทำผ่านพิธีกรรมนั้น แต่ลืมไปเรื่องการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน การนำเอาหลักธรรมมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน



สุดท้ายการเข้าวัดจึงเหลือแค่ การให้ทานและขอพร แต่ไม่มีการน้อมนำปฏิบัติใดๆ สุดท้ายก็รอให้บุญกุศลดลบันดาล ให้สำเร็จดังมุ่งหวัง จึงไม่แปลกที่จะมีเกจิอาจารย์ต่างๆ ผุดดังดอกเห็ด มีเรื่องเล่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ต่างๆ จนพระพุทธรูปตัวแทนแห่งพระธรรมและพระวินัย กลายเป็นเทพเจ้า กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถให้ผลดลบันดาลให้คนเป็นอะไรก็ได้ผ่านการขอ

จนที่สุดมีวิธีการไหว้แปลกๆ มากมาย เช่น ถวายแว่นตา ถวายไข่ต้ม ถวายน้ำแดง จนกลายเป็นเรื่องน่าขันไปเสีย แล้วแบบนี้พุทธศาสนาจะเป็นเช่นไร

หลายครั้งเข้าวัดไปบางวัดแทบแยกไม่ออกว่าเป็นวัดพุทธหรือโบสถ์พราหมณ์ บางวัดมีทุกอย่างให้เลือกบูชาและขอพร ตั้งพระพุทธรูปทั้งเถรวาท มหายาน เจ้าแม่ พระโพธิสัตว์ เทพเจ้าจีน เทพเจ้าฮินดู ยังขาดแต่ไม้กางเขนเท่านั้น

มิหนำซ้ำ ตัวพระสงฆ์เองก็ไม่เอาดีทางปฏิบัติหรือชักนำในการปฏิบัติ กลับเอาบุญบาปมาอ้างเพื่อขออามิสสินจ้าง เน้นบาปบุญคุณโทษจนลืมเรื่องการฝึกฝนพัฒนา ศีล สมาธิ และปัญญา พระบางรูปก็เรียนมากรู้มาก แต่ปฏิบัติน้อย ด้วยมิจฉาทิฏฐิคิดว่าตนเองเป็นผู้รอบรู้เที่ยวสั่งสอนผิดๆ ถูกๆ จนกลายเป็นครหาเป็นโลกวัชชะไปก็มี

ถึงตอนนี้หลายคนคิดว่าคงยากที่จะแก้กลับคืนให้รุ่งเรืองดังเดิม หรือคิดง่ายๆ ว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่แท้จริงแล้วเราสามารถทำได้ เราสามารถช่วยพุทธศาสนาได้ เพียงแค่ทุกคนหันกลับมาดูที่ตัวเอง กลับมาพิจารณาที่ตนเอง แล้วหันเข้าสู่การปฏิบัติที่แท้จริง ผ่านการศึกษาหลักธรรมแล้วนำมาปฏิบัติที่ง่ายๆ

โดยไม่ต้องเสียเวลางาน ไม่เสียเงินเสียทองมากมายอะไร ไม่ต้องทำทาน (ที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญ) ก็ยังได้ ไม่ต้องเข้าวัด ก็ได้อีกเช่นกัน

เพราะศาสนาพุทธสอนให้เริ่มที่ตนเองสอนให้เรียนรู้ผ่าน สิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพุทธศาสนิกชนมีศีล คือ สำรวม กาย วาจา ใจ ดีแล้วย่อมก่อให้เกิดผลต่อส่วนรวม หากทุกคนในกลุ่มมีศีลเสมอกันความผาสุขในกลุ่มก็หาได้ไม่ยาก เมื่อมีศีลดีแล้วก็ ศึกษาเรียนรู้เรื่องสมาธิ ความสงบทางใจ เพื่อให้จิตมีพลัง มีความนิ่ง ซึ่งก็เกิดจากพื้นฐานที่เรียกว่าศีลด้วยเช่นกัน

อันดับสุดท้ายการพัฒนาปัญญา คือ การหาความรู้ เมื่อกายสำรวจ จิตตั้งมั่น ปัญญาย่อมเกิดจากโยนิโสมนสิการ คือ การไตร่ตรองอย่างแยบคาย พิจารณาหาเหตุหาผล ทำความเข้าใจในความจริงต่างๆ ได้ไม่ยาก

นี่ต่างหากที่เป็นแนวทางอันแท้จริงของพุทธศาสนา หาใช่แค่เปลือกกระพี้ที่คนบางคน (เน้นย้ำว่าบางคน) หลงคิดว่าเป็นศาสนาแล้วพาลเลิกนับถือ เพราะไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองต่อคำขอ คิดว่าทำบุญแล้วย่อมได้ตามที่ขอ

ลัทธิหวังผลดลบันดาลจึงเป็นเหลือบมารแห่งพุทธศาสนาที่เกาะกินพอกพูนหนาขึ้นมาหลายร้อย หลายพันปีแล้ว ทำให้ยากแก่การกระเทาะออกจากความเชื่อของคนบางกลุ่ม แต่นั่นไม่ได้หมายความชาวพุทธแท้ๆ จะท้อถอยและฝากความหวังไว้กับพระสงฆ์เท่านั้น เพราะเราคือ พุทธบริษัท 4 ที่ช่วยจรรโลงพุทธศาสนาให้เจริญสืบต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น