วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิธีการศึกษาธรรมะเพื่อเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

จริง ๆ ก็ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนที่ธรรมะ ธรรมโม แบบดีเด่นเลิศเลออะไร (เดี๋ยวจะมีคนหมั่นไส้ ช่วงนี้มีเยอะเสียด้วย) และไม่ได้เป็นการสอนคนอื่นแต่เป็นการแชร์ประสบการณ์ตนเองที่ผ่านประสบพบร้อนหนาวมาหลายปี

เริ่มจากเมื่อก่อนได้อยู่ในแวดวงกาสาวพัตรกับเขาเหมือนกันตั้ง 5 ปี ศึกษาธรรมะตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี โทและเอก ถือว่าเป็นผู้รู้ตามหนังสือคนหนึ่ง ใครถามตอบได้ วิชาที่ชอบคือกระทู้ธรรม แต่ผู้อ่านเชื่อไหมว่า

การศึกษาธรรมะในครั้งนั้น เรียนรู้เพื่อเอาชนะคนอื่น หากใครพูดผิดจะรีบคัดค้าน และสาธกยกเรื่องราวต่าง ๆ มาอ้างอิงเป็นตุเป็นตะและจะลำพองตนว่าเป็นผู้รู้...

เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ความคิดเช่นนั้นยังฝังรากลึกจนถลำหนัก หนังสือธรรมะเต็มบ้าน แต่ก็เพียงเพื่อรู้และพูดคุยแสดงความคิดเห็น ทำนองข้ารู้ ข้าเก่ง

ในที่สุดเมื่อสองปีที่ผ่านนี้ได้เข้าร่วมชมรมธรรมะ (ชมรมภูวธรรม) เริ่มต้นเขียนเว็บธรรมะ และต้องศึกษาหาข้อมูลมาใช้ในการเขียนบทความต่าง ๆ บังเอิญได้กลับไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเข้าคือ พุทธธรรม ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เข้า

ตาสว่างทันที... "เราหลงโง่อยู่ตั้งนาน..."

ที่แท้เราเรียนรู้ธรรมะมาผิดวิธีตั้งแต่ต้น เราเรียนรู้จากภายนอก จากการประยุกต์ใช้ของคนอื่นมาทั้งหมด เรื่องไหนที่ยากไม่ว่าอิทัปปัจจยตา ไตรลักษณ์ อภิธรรมก็ไม่เว้นศึกษาหมด แต่ประโยชน์ที่ได้กลับน้อยนิด มันเลือนรางจนไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจน

การเริ่มต้นของหนังสือพุทธธรรมคือ เริ่มศึกษาจาก อายตนะภายใน ภายนอก 6 อย่าง โดยเริ่มจริง ๆ เป็นการศึกษาตัวเราเอง โดยเข้าใจเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง

สิ่งทั้งสามอย่างเรียกว่า อาสวะกิเลส อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน กล่าวคือตั้งแต่เกิดมาเรามีสิ่งนี้ตามมาด้วย มีโลภะ ความอยากได้ใคร่มีใคร่เป็นอยู่เสมอ มีความโทสะคือไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น มีโมหะความลุ่มหลงมัวเมาในอวิชชา คือไม่รู้ผิด ชอบ ชั่วดี...

ทั้งหมดนี้มันฝั่งในจิตใจแต่แรกแล้ว เพียงแต่มันจะแสดงตามแรงกระตุ้นวันไหน ยามใดไม่ทราบ

ดังนั้นหากใครที่สามารถสะกดไม่ให้อาสวะกิเลส (อ+สวะ+กิเลส, ไม่+ลอย+เครื่องเศร้าหมอง, กิเลสที่นอนเนื่องในกมลสันดาน) ก็ทำให้เป็นสุขได้... เพียงแค่นี้เองครับ

ทีนี้บ่อเกิดแห่งอาสวะกิเลสเล่าครับ ก็มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่สัมผัสหรือรับรู้กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เมื่ออายตนะภายในกับภายนอกมาประทะกันจะเป็นแรงกระตุ้นกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นได้แสดงออกมา...

แค่นี้จริง ๆ สำหรับบ่อเกิดแห่งความทุกข์ หากเราสามารถละทิ้งการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นเหล่านี้ได้ทีละน้อยจนหมดทั้งสิ้นก็สามารถสร้างความสุขได้...

เห็นหรือยังครับว่า การศึกษาธรรมขั้นต้น ต้องเริ่มที่การศึกษาตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปดูคนอื่นว่าจะเป็นอย่างไร ดูตัวเองดีกว่าครับ เพราะดูแต่คนอื่นมักจะลืมตัวว่าตนเองดีแล้วคนอื่นแย่ หรือถ้าคนอื่นดีกว่าก็จะรู้สึกต่ำต้อย น้อยเนื้อต่ำใจ การเป็นอิจฉาตาร้อนไปเสียอีก

เมื่อรู้จักและเรียนรู้กับกิเลสได้แล้วขั้นต่อไปจะมาเอง... ผู้ที่ประสบผลสำเร็จด้านการปฏิบัติธรรมเขาก็เริ่มจากตรงนี้กันทั้งนั้น...

(บางส่วนของการคุยเรื่อง การพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับพนักงานคอลเซ็นเตอร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น