วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์, ธรรมะ และศิลปะ

วันนี้มีปฐมนิเทศพนักงานคอลเซ็นเตอร์ใหม่ เบื้องต้นได้แนะนำเกี่ยวกับบริษัทฯ และแนวคิดในการพัฒนาตนเอง โดยการฝึกอบรมของผู้เขียนจะเน้นหนักในเรื่องการปรับปรุงพัฒนาตนเอง โดยยึดหลักตามพุทธสุภาษิตสองบทคือ
ทนฺโต เสฎฺโฐ มนุสฺเสสุ
มนุษย์ประเสริฐได้เพราะการฝึกตน

และ 
อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

โกหิ นาโถ กโร สิยา
บุคคลอื่นนั้นเล่าใครพึ่งได้

อตฺตนาหิ สุทนฺเตน
อันบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว

นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ย่อมได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นได้ยาก
ตั้งแต่สมัยเด็กมาแล้วที่เราได้รับการสอนสั่งมาอยู่ตลอดเวลาว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" แต่สำหรับมุมมองของพุทธศาสนาแล้วมนุษย์ไม่ได้ต่างไปจากสัตว์เดรัจฉานมากนัก เพียงแต่มนุษย์ได้เปรียบเพราะสามารถฝึกตนเองได้ หรือได้รับการฝึกแล้วสามารถพัฒนาต่อไปได้ แต่สัตว์เดรัจฉานนั้นเมื่อได้รับการฝึกก็ทำได้เพียงเท่านั้นไม่สามารถปรับปรุงพัฒนาความสามารถในขั้นไปหรือขั้นสูงได้

ดังนั้นหากมนุษย์คนใดที่ปฏิเสธการฝึกแล้วย่อมหมายความว่า อยู่ได้ด้วยสัญชาติญาน เพียงเพราะเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น
ดังนั้นการฝึกตนเองจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุด และเมื่อฝึกตนดีแล้วย่อมได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นหาได้ยากนั่นก็การพึ่งตนเอง ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นในการดำเนินกิจกรรม ถึงแม้ว่าจำต้องอาศัยก็อาศัยกันตามอัตภาพเพียงเพราะความสำเร็จหรือเป็นไปตามสังคมเท่านั้น

การพัฒนาตนเองตามแนวทางของผู้เขียนจึงเน้นในการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เพื่อเข้าความเป็นมาของสังคม เข้าใจความคิดของคนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมให้หมุนไปตามสังสารวัฏ 

ประวัติศาสตร์มักสอนให้เรารู้เสมอว่าในอดีตคนประสบความสำเร็จได้เพราะอะไร ล้มเหลวเพราะอะไร แต่เรามักมองประวัติศาสตร์เป็นเรื่องความคร่ำครึ หรือเป็นเรื่องของการรบที่มีแพ้หรือชนะ ทำให้ความเป็นจริงถูกปิดบัง ดังนั้นจึงควรที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อความเป็นไปของสังคม

จากการศึกษาประวัติศาสตร์แล้วเราสามารถอาศัยธรรมะมาใช้ในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ในด้านต่าง ๆ 

แต่ในปัจจุบันนี้หลายคนมักจะศึกษาธรรมะเพื่อเอาชนะคนอื่น (ผู้เขียนเองก็เคยเป็นเช่นนี้) ศึกษาพระธรรมวินัยเพียงเพื่อให้รู้ว่าหลักคำสอนบทไหนว่าอย่างไร อยู่ตรงไหน แล้วคอยจับผิดคนอื่นว่าใครจะพูดหรือกล่าวอ้างผิด โดยเพียรพยายามเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองเป็นผู้ทรงภูมิ เปรียบประดุจดั่งทัพพีที่อยู่กับแกงแต่ไม่มีวันได้ลิ้มรสน้ำแกง...

การศึกษาธรรมะเพื่อพัฒนาตนเองต้องศึกษาจากภายในไปภายนอก ศึกษาจากคำว่ากิเลส แล้วจะเข้าใจแล้วค่อยขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะสามารถพัฒนาตนเองด้วยตัวเองได้

สำหรับศิลปะแล้วผู้เขียนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งไม่น้อยไปกว่า ประวัติศาสตร์และธรรมะ เพราะศิลปะเป็นธรรมะแขนงหนึ่งคือธรรมชาติ (ศิลปะเป็นการตัดทอนธรรมชาติหรือได้รับอิทธิพลมาจากธรรมชาติ) แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำมาเพื่อขจัดความว้าวุ่นได้หรือสามารถทำให้คนดำดิ่งสู่ในห้วงแห่งความสวยงาม แล้วเราสามารถที่จะสงบลง เพื่อเป็นการเตรียมตัวไปสู่การฝึกตนตามแนวทางอื่น ๆ ต่อไป

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง เพราะหากบุคคลไม่สามารถหรือไม่มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้แล้วจะได้สาระจากสิ่งต่าง ๆ ได้น้อย...

มาเถอะครับ... มาเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองดีกว่าอย่ารอให้ใครมาสั่งสอนเลย... เพราะประโยชน์ที่ได้มันมากกว่ากันเยอะเลย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น