วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แนวทางฝึกหัดเพื่อเขียนบทความ: คิดก่อนพูด และคิดก่อนเขียน

พูดได้ก็เขียนได้ พูดเป็นก็เขียนเป็น ทั้งพูดและเขียนต่างต้องใช้ความคิด ต้องเรียบเรียงความคิดเพื่อสื่อออกมา...

เมื่อวานได้เขียนแนวทางการฝึกหัดการเขียนบทความแล้ว ชื่อตอน นักเขียนย่อหน้าเดียว เป็นการแนะนำให้คนเริ่มเขียนบทความได้ฝึก ง่ายๆ ด้วยการเขียนทุกวันผ่านเฟสบุ้กหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเปลี่ยนวิธีการเขียนเสียใหม่ ให้เขียนหนึ่งย่อหน้า แล้วให้ได้ใจความให้ได้สาระ มีความเป็นเอกภาพ ลื่นไหล สามารถนำไปแตกประเด็นใหม่ได้อีก เหมือนที่มีคนบอกว่า

พูดได้ก็เขียนได้ พูดเป็นก็เขียนเป็น ทั้งพูดและเขียนต่างต้องใช้ความคิด ต้องเรียบเรียงความคิดเพื่อสื่อกมา แต่จะดีมากน้อยแค่ไหนก็ว่ากันไปตามเหตุปัจจัย


ถึงตรงนี้แล้วมีบางคนสงสัยว่า แล้วจะเขียนได้อย่างไร ถึงให้มีเอกภาพ คือ มีสาระเดียวในหนึ่งย่อหน้า อ่านแล้วเข้าใจความหมาย ที่สำคัญเอาไปแตกประเด็นได้อีก

วิธีคิด เป็นหนทางช่วยในการเขียนและการพูด

ปกติแล้วการเขียนต้องคิดก่อนว่าจะเขียนอะไร แล้วมีลำดับมีขั้นตอนเรียงกันไปตามลำดับ แล้วปรับแต่งให้สละสลวย ส่วนการพูดก็ต้องคิด อย่าสักแต่ว่าพูดโดยไม่คิดอะไรเลย

ทุกวันนี้เรามักพบเห็นการพูดแบบไม่คิด รู้สึกอย่างไรก็พูดออกมาทันที ไม่มีการกลั่นกรองก่อนที่จะพูด บ่อยเข้าทำให้กลายเป็นนิสัย พูดตามความรู้สึกจนเป็นปกติ กระบวนการคิดก็น้อยลง

เมื่อให้ออกไปพูดอย่างเป็นทางการจะไม่สามารถจะเกิดปัญหาทันที กลายเป็นพูดได้แต่พูดไม่เป็น จับต้นชนปลายไม่ถูกจนเครียดไปเลยก็มี

ดังนั้นควรที่จะฝึกการคิดก่อนพูดให้เป็นปกติวิสัย แต่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลจนกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำคำ

หลักการคิดสำหรับการพูดและการเขียนคือ คิดอย่างเป็นระบบ และตามหลักกระบวนการคิดนั้น ประกอบด้วย


  1. โลกทัศน์ เป็นส่วนของประสบการณ์ การมองสิ่งต่างๆ คือ คิดแบบไหน เราก็มองโลกแบบนั้น กรอบความคิดในการมองโลก มองสิ่งต่างๆ นั้นสำคัญต่อการพูด และการเขียนมาก 
  2. เจตคติ เป็นพื้นฐานของจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด แล้วส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม 
  3. แรงจูงใจ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนอยากจะพูดหรืออยากจะเขียน คือ พูดแล้วได้ผลทางไหน เขียนแล้วได้ผลอย่างไร แรงจูงใจมากก็พูดมากเขียนมาก 
ส่วนการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นการกำหนดองค์ประกอบและการจัดองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ให้เป็นลำดับ โดยคิดแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ แล้วนำกลับมาประกอบใหม่ให้เป็นระบบ แล้วสรุปเป็นกรอบความคิด มีรูปแบบหลากหลายวิธี แต่จะยกมาเพียงบางข้อ ดังนี้

  1. แยกแยะส่วนประกอบ ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกเป็นชิ้นแล้วคิดวิเคราะห์
  2. สืบสาวหาเหตุปัจจัย คิดต้นสายปลายเหตุ แบบ ผลเดียวหลายปัจจัย ไม่ใช่เหตุเดียวผลเดียว
  3. มองสรรพสิ่งเป็นกลาง อยู่ในสภาวะรู้เท่าทัน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ดึงความคิดของตัวเองออกจากสิ่งที่กำลังวิเคราะห์ แล้วค่อยแสดงทัศนคติภายหลัง
ทั้งหมดนี่เป็นเพียงหลักการง่ายๆ ในการคิดเชิงระบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการพูดและการเขียนได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาความสามารถในการสื่อสาร

จึงหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้เริ่มต้นได้รู้จักวิธีการที่จะเรียบเรียงความคิดนำมาเป็นวัตถุดิบในการพูดและเขียนได้ แต่จะได้มากหรือน้อยขึ้นกับความสนใจและการฝึกฝน ถ้าลงมือเร็วก็ได้ผลเร็วนะครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น