วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แนวทางฝึกหัดเพื่อเขียนบทความ: นักเขียนหนึ่งย่อหน้า

มีคนเคยพูดไว้ว่า ใครพูดได้ก็สามารถเขียนได้ แต่จะเขียนมีคุณภาพหรือไม่ก็อยู่ที่พูดได้ดีหรือยัง...
เขียนบทความคือยาขมของหลายคน เมื่อถึงคราวต้องเขียนแล้วสมองมึนงงมืดไปแปดด้าน พยายามดูตัวอย่างก็คิดว่าเขาเอาคำพูดจากไหนมาเขียน ครั้นตัวเองลองเขียนบ้างก็วกไปวนมา สุดท้ายก็จบแบบห้วนๆ อ่านแล้วไม่ได้ใจความ เมื่อกลับไปอ่านวิธีการแต่งบทความยิ่งไปกันใหญ่ วิธีการร้อยแปดพันเก้า ยากจะเข้าใจ พาลท้อเลิกเขียนไปเสียอย่างนั้น

หากผู้เขียนบอกว่า การเขียนบทความ นั้นง่ายมาก จะเชื่อหรือไม่


บางคนอาจะคิดว่าผู้เขียนว่าเกินกว่าเหตุ หรือไม่ก็พลอยสงสัยว่าผู้เขียนจะเขียนเก่งสักแค่ไหน

เปล่าเลยผู้เขียนไม่ได้เขียนเข้าขั้นชั้นครูที่จะอาจหาญมาสอนคนอื่นให้สามารถเขียนบทความได้อย่างลึกซึ้ง แต่ผู้เขียนมีวิธีการเขียนแบบง่ายๆ หลักการคิดง่ายๆ ถ้าทำความเข้าใจและพยายามฝึกหัดตามรับรองว่าเขียนได้ เขียนเป็นกันแน่นอน โดยอาศัยการฝึกฝนของตัวเราเอง

ทำไมถึงกล้าท้าว่าการเขียนนั้นง่ายเพราะมีคนเคยพูดไว้ว่า "ใครพูดได้ก็สามารถเขียนได้" แต่จะเขียนมีคุณภาพหรือไม่อยู่ที่พูดได้ดีหรือยัง นี่คือเงื่อนไขแถมท้ายนิดหน่อย

การเขียน คือ การเรียบเรียงคำพูดให้เป็นตัวอักษร ดังนั้นหากต้องการเขียนให้ดีต้องพูดให้ดีก่อน วิธีการพูดให้ดีทำอย่างไร ก็ต้องฝึกเรื่องการสื่อสารกันสักนิด

พอเอ่ยถึงฝึกเรื่องการสื่อสาร หลายคนคงเบือนหน้าหนีกันอีก หาว่าอ้างทฤษฎีหนักหนาพอกัน ลำพังแค่อ่านเรื่องวิธีการเขียนบทความก็วุ่นวายพอแล้ว ยังต้องอ่านทฤษฎีการสื่อสารกันอีก ไม่ยุ่งพัลวันเลยหรือ

มองให้ง่าย คิดง่ายๆ ทำง่ายๆ ก่อนแล้วค่อยพัฒนาให้ซับซ้อนขึ้น นี่คือกลยุทธ์การเขียนเรื่อง เขียนบทความ และเขียนได้แน่นอน ก่อนจะเขียนบทความเป็นเรื่องลองเขียนข้อความสักหนึ่งย่อหน้าได้ไหมล่ะ ถ้าทำได้ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไป

หลักการสื่อสารง่ายๆ สำหรับเขียนข้อความหนึ่งย่อหน้าไม่มีอะไรมาก เพียงแค่คิดอยู่ 2 อย่างคือ จะเขียนอะไร กับ ใครเป็นคนอ่าน

การสื่อสารต้องประกอบด้วย ผู้ส่ง สาร สื่อ ช่องทางการสื่อ และผู้รับ แค่นี้แหละ และหากจะดีขึ้นก็มีการส่งกลับหรือ feedback กลับมาหาผู้ส่งสารอีกทีหนึ่ง เพื่อปรับปรุงสารให้ดีขึ้น

แล้วเนื้อหาหนึ่งย่อหน้าจะสื่ออะไร อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราละว่าอยากบอกอะไรให้โลกรู้ และในหนึ่งย่อหน้าต้องมี ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือบอกรายละเอียดแต่อาจจะไม่ครบทั้งหมด แต่ต้องได้ ใจความ

สิ่งสำคัญของย่อหน้าคือ ต้องได้ใจความ มีเนื้อหาเดียว ถ้ามีหลายเนื้อหาก็ขึ้นย่อหน้าใหม่

ความยาวของย่อหน้าก็ไม่บังคับ ตามปกติบทความทั่วไปจะใช้ 3 บรรทัดขึ้นไป แต่ถ้าเป็นบทความไม่เป็นทางการสามารถใช้ข้อความสั้นๆ เป็นหนึ่งย่อหน้าได้ จะสังเกตเห็นจากบทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แต่ไม่ค่อยเห็นในวารสาร ที่เป็นบทความทางวิชาการ

การเขียนข้อความหนึ่งย่อหน้านั้นต้องมี ประโยคใจความสำคัญ และประโยคขยายความ ง่ายๆ เลยก็ขึ้นด้วยประโยคที่เราจะบอก แล้วก็หาข้อความมายืนยัน ขยาย มาเสริมแต่งให้ดูดี ดูน่าเชื่อถือกันสักนิด จะมากน้อยก็แล้วแต่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น

คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557 

ถ้าเราต้องการใช้ประโยคนี้เป็นประโยคสำคัญ แล้วประโยคขยายความล่ะ จะเป็นแบบไหน

เราสามารถเอาประโยคสำคัญขึ้นก่อนทั้งท่อนเลย หรือจะเอาไว้ตรงกลางย่อหน้า หรือเอาไว้ท้ายสุดของย่อหน้าก็ได้ เช่น

ประโยคสำคัญขึ้นก่อน:
คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากมีเหตุการณ์ชุมนุมยืดเยื้อจนสถานการณ์เลวร้าย ต่างฝ่ายต่างควบคุมมวลชนของตนเองไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันหลายครั้ง มีการใช้อาวุธสงครามก่อความไม่สงบเป็นระยะตามที่เป็นข่าวอยู่ทุกวัน
 ประโยคสำคัญอยู่ตรงกลาง:
ระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเกือบทุกวัน มีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ จนสถานการณ์บานปลายไม่สามารถควบคุมได้ จนเป็นเห็นให้ คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สถานการณ์บ้านเมืองก็เข้าสู่สภาวะปกติ อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายไปมากกว่านี้

 ประโยคสำคัญอยู่ท้ายสุด:
ระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมามีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น จนนำไปสู่ความรุนแรง สถานการณ์เริ่มจะบานปลาย จนไม่สามารถควบคุมมวลชนได้ เหตุการณ์ร้ายแรง การใช้อาวุธสงครามก่อเหตุปรากฏเป็นข้าวตามสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่สถานการณ์เลวร้ายได้สงบลงอีกครั้งหนึ่งโดย คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 ถึงตรงนี้หลายคนคิดอีกว่า จะเขียนข้อความหนึ่งย่อหน้าไว้ที่ไหน คำตอบง่ายมาก ก็เขียนลงเฟสบุคนั่นแหละครับ เป็นการฝึกไปในตัว สามารถฝึกได้ทุกวัน วันละหลายข้อความ โดยเราสามารถเลือกนำเอาแนวคิด ความคิด เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราประสบพบเจอมาเขียนบอกเล่า โดยเปลี่ยนจากข้อความสั้นๆ ให้เป็นข้อความสักหนึ่งย่อหน้า 3-4 บรรทัดขึ้นไป แล้วก็พยายามฝึกหัดใช้ภาษาให้สละสลวย งดเว้นภาษาตลาด ศัพท์สแลง พยายามให้เป็นกึ่งทางการสักนิดหนึ่ง

รับรองว่าไม่นานคุณก็เป็นนักเขียนได้แล้ว... นักเขียนหนึ่งย่อหน้าไงละครับ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น